ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคมเรียบเรียง/ข้อมูลกระทรวงเกษตร [email protected] ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่แบบอินทรีย์ ที่อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี “...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...” พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นอีกพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรของเกษตรกรเป็นหลัก ดั้งเดิมคือทำนา ปัจจุบันมีพัฒนาการเปลี่ยนไป มีการทำเกษตรในรูปแบบที่หลากหลาย เป็นแบบผสมผสาน ส่วนใหญ่เกษตรกรซึมซับหลักการทำเกษตรตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 โดยคำนึงถึงหัวใจสำคัญที่ปัจจัยหลักคือต้องมีแหล่งน้ำน้ำที่เป็นเครื่องพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงาม ดังแนวพระราชดำริ “น้ำคือชีวิต” “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่..." พระราชดำรัส พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ และหนึ่งในชาวบ้านตำบลโคกไทยมีนายสมชาย ภาวศิลป์ เกษตรกรผู้ได้รับรางวัลที่ 2 ของประเทศ ในการประกวดเกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสมตามหลักการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริระดับประเทศประจำปี 2556 ที่ผ่านมา เกษตรกรรายนี้ยึดอาชีพทำนาตามบรรพบุรุษ และแบ่งพื้นที่ปรับปรุงเป็นเกษตรแบบทำสวนผัก ผลไม้ ผสมผสานกันไป เปลี่ยนแปลงจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นผสมผสานดังกล่าว เพื่อการบริโภคโดยไม่ต้องซื้อหาจากภายนอกเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไปในตัว และเมื่อเมื่อเหลือจากการบริโภคก็จำหน่ายทำให้มีรายได้เพิ่มเข้าสู่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง นอกจากการปลูกผักปลูกไม้ผล แหล่งน้ำที่เป็นหัวใจของพื้นที่เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภคยังพัฒนาเป็นที่เลี้ยงกบ ปล่อยปลา ไม้ยืนต้นใช้ส่วนหนึ่งในการเลี้ยงชันโรง โดยยึดหลักการเดินตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาปฎิบัติอย่างจริงจัง นายสมชายกล่าวว่าแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9เป็นทฤษฎีที่แก้ปัญหาด้านอาชี การมีงานทำการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร และการประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะในเขตที่ใช้น้ำฝนทำนาเป็นหลัก ซึ่งเกษตรกรจะมีความเสี่ยงสูง เป็นเหตุให้ผลผลิตอยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ด้วยพระอัจฉริยภาพที่ทรงคิดค้นหลักการในการแก้ปัญหาด้านการอาชีพเกษตรกรรมได้พระราชทาน "ทฤษฎีใหม่"นำไปสู่การปรับประยุกต์ใช้พื้นที่ที่แม้จะมีอยู่จำกัดก็สามารถสร้างงานสร้างอาชีพสร้างผลผลิตจนนำไปสู่การพออยู่พอกินได้ หลักสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานไว้ให้เป็นแนวทางดำเนินชีวิตคือเดินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องมีความขยัน อดทน อดออม ไม่โลภ มีความเอื้อเฟื้อด้วยรักเมตตาสามัคคีกัน   “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ทรงวางหลักไว้ให้ดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ทรงให้ตัวอย่างไว้คือที่ประมาณ 15 ไร่ ด้วยวิธีการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาอย่างเหมาะสม ด้วยการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในที่ดิน หัวใจสำคัญคือแหล่งน้ำมาเป็นลำดับหนึ่ง แนวพระราชดำริทรงให้มีการจัดสร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้มีรายได้ใว้ใช้จ่ายและมีอาหารใว้บริโภคตลอดปี มีเกษตรกรเดินตามรอยพระยุคลบาทอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สร้างผลผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรไทยด้วยวิถีความพออยู่พอกิน มีอดอยากขาดแคลนมีความสุขอย่างยั่งยืน ดังพระราชดำรัสว่า "…ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน…" เกษตรกรที่ทำตามที่พระองค์ทรงแนะนำมีความเป็นอยู่ดีขึ้นมีกินมีใช้ไม่ขาดทุนเหมือนเมื่อก่อนทุกคนทุกครอบครัว สำหรับผมวันนี้ก็ลืมตาอ้าปากได้แล้วมีความสุขแล้ว”นายสมชายกล่าวด้วยรอยยิ้ม นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 จังหวัดระยองเปิดเผยเพิ่มเติมว่าสำนักงานได้รับนโยบายจากอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรนายสมชาย ชาญณรงค์กุล ให้มีการขับเคลื่อนในเรื่องของงานนโยบายทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องของแปลงใหญ่กับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั้งนี้โดยเน้นให้ยึดหลักการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริทั้งการทำเกษตรตามทฤษฎีใหม่และดำเนินชีวิตด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ทั้งนี้เพราะศพก. นั้นเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร การส่งเสริมนั้นจะแยกออกเป็น 2ลักษณะโดยส่วนงานของกรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้าไปดำเนินการเองกับประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานภาคีเข้าไปร่วมดำเนินการ ดังที่ย้ำข้างต้นว่าโดยเน้นการน้อมนำแนวทางของทฤษฎีใหม่ฯมาดำเนินการ โดยส่วนงานของกรมส่งเสริมการเกษตรจะส่งเสริมในเรื่องการบริหารจัดการการปลูกพืชเป็นหลัก เช่นจะให้เกษตรกรปลูกอะไรปลูกอย่างไร หรือบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกอย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิสังคม “เน้นย้ำเรื่องแหล่งน้ำสำคัญแก่เกษตรกร ทำอย่างไรงจะให้เกษตรกรลดต้นทุนได้ เราก็จะเข้าไปดูแลเรื่องการปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว ที่มีคุณภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรม องค์ความรู้เข้าไปให้เกษตรกรได้ดำเนินการ ตลอดถึงนำพันธุ์พืชที่ดีมีคุณภาพไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก สำหรับในพื้นที่เขต 3 มีเป้าหมายว่าศพก. ที่เป็นจุดเรียนรู้จะมีทั้งหมด 73 ศพก. 73 ศูนย์ ในการที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกร “ นายชาตรี บุญนาค กล่าว ทางด้านนางปรารถนา แก้วพร้อม เกษตรกรอำเภอศรีมโหสถจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยถึงการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ให้ทำการเกษตรแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริว่าเกษตรกรตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถที่ผ่านมาแม้จะปลูกข้าวหอมมะลิ แต่ก็ยังอยู่ในระบบทำได้แค่ปีละ 1 ครั้ง เมื่อพ้นจากการทำนาแล้วก็ไม่มีอาชีพอื่นใด เข้ามาเสริมรายให้กับครอบครัว ทางเกษตรอำเภอได้ส่งเสริมโดยการนำเอาหลักการเกษตรตามทฤษฎีใหม่ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เข้ามาส่งเสริม แทนที่จะทำนาอย่างเดียว ก็ส่งเสริมให้ทำสวนผลไม้ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ด้วยการจัดแบ่งพื้นที่ คือความสำคัญให้มีแหล่งน้ำ มีแปลงปลูกพืชให้ผล มีแปลงปลูกผัก มีนาข้าว มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์ จำพวกเป็ด ไก่ เพื่อบริโภคไข่และเนื้อ ในสระน้ำเลี้ยงปลาด้วย นอกเหนือไปจากจะเอาน้ำมาใช้ในแปลงปลูกพืช เกษตรอำเภอศรีมโหสถบอกว่าการที่เกษตรกรมีการปลูกพืชหลากชนิด ทั้งข้าว ไม้ผลและพืชผัก ยามที่ผลผลิตประเภทใดประเภทหนึ่งไม่มีตลาดหรือมีราคาถูก ขายไม่คุ้มทุน เกษตรกรก็จะมีผลผลิตจากพืชตัวอื่นๆ เข้ามาทดแทน ที่สำคัญเป็นการใช้ที่ดินที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า คือสามารถให้ผลผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน เหลือแล้วขายมีรายได้แก่เกษตรกรได้ตลอดทั้งปี และทุกฤดูกาล นางปรารถนาบอกด้วยว่า ตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่นั้นมีการน้อมน้อมนำมาประยุกต์ใช้ในบางพื้นที่พืชผักบางอย่างปลูกไม่ได้ เพราะพื้นที่มักเจอกับสภาพน้ำท่วม ทาง ศพก. ก็จัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชผักในพื้นที่แม้น้ำท่วมก็ปลูกได้ เช่น หัวไชท้าว คะน้า ก็ปลูกลงในกระถางก็สามารถที่จะปลูกได้ และนำมาบริโภคหรือจำหน่ายได้ ที่สำคัญได้มีการส่งเสริมโดยการขยายองค์ความรู้สู่เกษตรกรในการปลูกพืชผักแบบอินทรีย์ ด้วยการแนะนำและถ่ายทอดความรู้เรื่อง การป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยใช้ไตรโคเดอร์มา และบิวเวอเรีย เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อราในพืช ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้มากขึ้น “การทำเกษตรอินทรีย์เกษตรกรได้กำไรในชีวิตแล้ว 20% เป็นกำไรที่ไม่สามารถหาซื้อได้ในตัวเองก็คือโรคร้ายต่าง เกิดจากการใช้สารเคมี เมื่อไม่มีสารเคมีก็จะทำให้สุขภาพร่างกายของเกษตรกรแข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากโรคที่เป็นผลมาจากสารเคมีตกค้างในร่างกาย” “นางปรารถนา แก้วพร้อม เกษตรอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี กล่าว นับเป็นการเน้นย้ำน้อมนำแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 จังหวัดระยอง ปลูกฝังสู่เกษตรกรถือเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตแบบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรินำไปสู่การลดต้นทุนมาดำเนินการ ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรทำการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ที่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งนับว่าลงตัวและก่อเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรและประเทศชาติโดยภาครวมอย่างเห็นเป็นรูปธรรม -------------------------------------------