สนช.รับร่างกฎหมายลูกกกต. “มีชัย”แจงต้องร่วมมือไม้ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งทำงาน ด้าน“สมชาย”ชี้ร่างทำกกต.2-3คนพ้นตำแหน่ง ขณะที่“ทวีศักดิ์” หวั่นผู้ตรวจการเลือกตั้งสู้กกต.จังหวัดไม่ได้ เหตุเป็นคนนอกพื้นที่ไม่มีความคุ้นเคย ออกไป “มีชัย” ชี้ ช่วยไม่ได้กกต.พ้นตำแหน่ง อ้างเขียนตามรัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ...ทั้งนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ชี้แจงว่า ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดในมาตรา 267 ให้กรธ.อยู่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จ และส่งให้สนช.พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งในส่วนของร่างพ.ร.ป.กกต.ฯนั้นกรธ.ได้ใช้ร่างขององค์กรอิสระเหล่านั้นเป็นหลักในการพิจารณาคือ 1. สิ่งใดที่ร่างมาและดีอยู่แล้วก็ให้คงไว้ตามนั้น 2. สิ่งใดที่ขาดตกบกพร่องก็จะดำเนินการเพิ่มให้สมบูรณ์ขึ้น และ 3. สิ่งใดที่ต้องเพิ่มเข้ามาใหม่ เพื่อให้องค์กรอิสระมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล นอกจากนี้กรธ.ยังได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย “ในส่วนของสนช. ได้มีการตั้งคณะกรรมาการฯขึ้นมาศึกษาควบคู่กันไป และได้ส่งข้อคิดเห็นมายังกรธ.เป็นระยะ โดยหลายกรณีสะกิดให้กรธ.พบข้อบกพร่อง ทำให้มีการโต้แย้งกันว่า จะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม ซึ่งความพยายามของกรธ. พยายามทำให้กลไกที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ คือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งด้วยความเที่ยงธรรม ได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ดังนั้นในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯต่อจากนี้ถ้าพบเห็นว่ามีอะไรที่ขาดตกบกพร่องอย่างไร ก็ย่อมเป็นอำนาจของคณะกรรมาธิการฯที่จะแก้ไขปรับปรุง ซึ่งทางกรธ.ก็พร้อมจะรับฟังและชี้แจงให้เห็นว่า ทำไมถึงเขียนอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม หากมีข้อขาดตกบกพร่องส่วนใด กรธ.ก็น้อมรับเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์” ประธาน กรธ.กล่าว จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิกอภิปราย ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนในหลักการ แต่ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายละเอียด เช่น นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช. อภิปรายว่า ภาพรวมเห็นด้วยและมีข้อดีหลายเรื่อง เช่น การคุ้มครองพยานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาคนที่เป็นพยานมักไม่ได้กลับไปอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของบุคคลที่จะได้เป็นส.ส. ส่วนการตัดกกต.จังหวัดออกโดยให้ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นแทนไม่แน่ใจว่ารูปแบบดังกล่าวจะใช้ได้หรือไม่ สำหรับการดำรงตำแหน่งของกกต.กำหนดคุณสมบัติเข้มอาจทำให้กกต.บางคนต้องพ้นตำแหน่ง ซึ่งอาจกระทบสิทธิ และมีหนังสือร้องเรียนจากพนักงานกกต.เกี่ยวกับเรื่องสิทธิประโยชน์น้อยกว่าข้าราชการ ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช.กล่าวว่า จากการพิจารณาเบื้องต้นพบว่าจะมีกกต. จำนวน 2-3 คนขาดคุณสมบัติตามร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นหากสนช.แปรญัตติไม่เห็นด้วยกับกรธ. เนื่องจาก กฎหมายไม่ควรริดรอนสิทธิเพราะเขาก็ได้รับการสรรหา ดังนั้นกกต.ชุดปัจจุบันจึงสมควรดำรงตำแหน่งจนครบวาระ และการยกร่างครั้งนี้มีเจตจำนงเพื่อเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นการปฏิรูปหรือปฏิวัติองค์กรอิสระให้มีที่มา หากแก้ไขหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กรธ.ยกร่างมานั้น จะนำไปสู่ชั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัย ชี้แจงภายหลังว่า ข้อกังวลที่ระบุว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งจะไม่ชำนาญเหมือนกกต.จังหวัดนั้น อยากเรียนว่าขณะสมาชิกนั่งอยู่ในสภายังรู้เลยว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้นบ้าง ปัจจุบันการสื่อสารรวดเร็วจึงไม่จำเป็นต้องลงไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่ ส่วนหนึ่งของผู้ตรวจการเลือกตั้งจะเป็นคนในพื้นที่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานกกต.จังหวัดน่าจะบอกเบาะแสได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวล “เป็นหลักปกติที่เราจะต้องร่วมมือไม้ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งทำงาน แต่ไม่ใช่มอบหมายหรือมอบอำนาจให้คนอื่นไปทำ และจะเป็นหลักใช้ในทุกองค์กรอิสระ ที่สำคัญเมื่อตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด มันจะเป็นรูปกรรมการ การทำงานก็จะเป็นคณะซึ่งไม่น่าจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการตรวจสอบการเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นรูปแบบผู้ตรวจการเลือกตั้ง เขาจะสามารถทำงานลำพังและรายงานกลับสู่ส่วนกลางด้วยตัวเขาเอง หลักนี้จะเป็นหลักที่สอดคล้องที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคสุดท้ายที่บอกว่าให้หลีกเลี่ยงการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการมากที่สุด เพราะการทำงานระบบคณะกรรมการหาผู้รับผิดชอบยาก และอุ้ยอ้าย ต้องมีประชุม มีลงมติ ซึ่งการตรวจสอบการเลือกตั้งไม่สามารถนั่งรอประชุมได้ แต่ต้องไปด้วยตัวเองตามลำพัง” ประธานกรธ. กล่าว นายมีชัย กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นใจความสำคัญมีเพียงว่าก่อนตรากฎหมายขอให้ฟังประชาชน แต่วิธีการรับฟังก็สุดแต่ลักษณะกฎหมาย ถ้าสามารถรับฟังตามจุดต่างๆได้ก็ไป แต่ถ้าไม่ได้จะใช้เทคโนโลยีให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลก็ได้ ขณะนี้ในคณะกรรมการกฤษฎีกาตกลงกันว่าจะใช้ระบบไอทีในการรับฟังความคิดเห็น โดยให้มีช่องระบุความคิดเห็นได้ นอกจากนี้ยังได้คิดให้นิติบุคคลมาขึ้นทะเบียนความสนใจในด้านต่างๆ หากมีกฎหมายที่ตรงกับที่นิติบุคคลสนใจก็จะทำหนังสือเชิญมาเพื่อแสดงความคิดเห็นผ่านระบบไอที นายมีชัย กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปรับฟังคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 หรือยัง แล้วนำข้อมูลมาใช้ได้หรือไม่ ตนคิดว่าใช้ได้ เพราะหลักสำคัญอยู่ที่ว่าเรารับฟังเพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้ สิ่งที่เรารับฟังมาจากประชาชน และประชาชนคิดเห็นอย่างไร สนช.สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว ดังนั้นวันนี้จึงไม่จำเป็นต้องรับฟังอีก เพราะจะทำให้การตรากฎหมายล่าช้า ส่วนคุณสมบัติและข้อห้ามของกกต.นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ยกเว้นให้คนที่มีตำแหน่งอยู่เดิม กรธ.ไม่มีทางออกที่จะบอกว่าถึงจะขาดคุณสมบัติก็ให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป เหมือนกับที่ในรัฐธรรมนูญกำหนดสนช.ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป คุณสมบัติใดที่ไม่ได้เขียนไว้ให้ยกเว้นจะต้องปฏิบัติตาม และถ้าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามและไม่ได้รับการยกเว้น สนช.ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ด้วยหลักการเช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญไม่ได้ยกเว้นไว้ให้ กรธ.จึงต้องเขียนกฎหมายลูกให้สอดคล้องกัน โดยให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติกกต. หากถูกต้องก็อยู่ต่อไปจนครบวาระ หากคุณสมบัติไม่ครบก็พ้นวาระตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเขียนบทบัญญัติลักษณะนี้ กรธ.ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำ เพียงแต่นึกไม่ได้ว่าจะหาทางแก้อย่างไร ถ้าทางคณะกรรมาธิการวิสามัญของสนช.คิดหาทางแก้ได้ ทางกรธ.ก็ไม่ขัดข้อง ในที่สุดสนช.มีมติรับหลักการร่างพ.ร.ป.กกต. ด้วยคะแนน 201 งดออกเสียง 2 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 31 คน และกำหนดระยะเวลาดำเนินงานภายใน 45 วัน