"วิษณุ" แถลงผลงาน ป.ย.ป. เผย สปท. ดัน 4 เรื่องปฏิรูปใหม่ "ตลาดคนจน-ศาลสิ่งแวดล้อม-ประกันภัยการเกษตร-คลายน็อตเปิดทางร่วมทุน" ชี้นายกฯ แจ้งนับหนึ่งเลือกตั้งล.ต.หลังงานพระราชพิธีปลายปี-คลอดก.ม.เลือกตั้งครบ 4 ฉบับ เมื่อเวลา 13.45 น.วันที่ 21 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า เป็นการรายงานการทำงานของ 4 คณะกรรมการย่อยในป.ย.ป.โดย 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ รายงานเรื่องสำคัญๆ ที่ได้ตัดสินใจ เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าไทยจีน การแก้ไขปัญหาการเกษตร เป็นต้น 2.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ รายงานถึงการเตรียมยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ที่ได้เสนอพ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติเข้าสภา ถือเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล และถือเป็นศิลาฤกษ์ก้อนแรก ซึ่งในเดือนส.ค.จะประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยว่าด้วยแผนงาน แผนเงิน แผนคน ซึ่งการเสนอแผนต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ หากผิดเพี้ยนไปจากยุทธศาสตร์จะไม่ได้รับการอนุมัติ 3.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ การรายงาน 27 วาระปฏิรูปเร่งด่วนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) ซึ่งนายกฯให้ความสำคัญจะต้องทำให้ได้ภายใน 1 ปี พร้อมกันนี้สปท.ได้เสนอ 4 เรื่องปฏิรูปใหม่ ประกอบด้วย 1.เสนอให้มีตลาดนัดคนจนเพื่อให้เป็นบ่อน้ำเล็กหรือเรียกว่าเตาขนมครก ส่งเสริมให้มีทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด 2.การประกันภัยการเกษตร เนื่องจากบริษัทไม่ยอมรับประกันภัยการเกษตร จึงอยากให้รัฐบาลหาช่องทางเข้าขับเคลื่อน โดยนายกฯ มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังไปดำเนินการ 3.เรื่องการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นศาลผู้ชำนาญการพิเศษ เนื่องจากสถิติพบว่าปีหนึ่งๆ มีคดีสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเป็นหมื่นเรื่อง ซึ่งนายกฯให้มีการหารือกับศาลอีกครั้งหนึ่ง 4.การผ่อนคลายมาตรตามการกฎหมายร่วมทุน เพราะปัจจุบันรัดกุมมากเกินเน้นการป้องกันการทุจริต จึงต้องการให้คลายนอตให้เกิดการร่วมทุนได้มากขึ้น 4.คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่ได้ตั้ง 4 อนุคณะกรรมการ เปิดรับฟังข้อเสนอแนะจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยได้รายงานข้อเสนอลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน แก้ทุจริต การสร้างความเป็นธรรม รวมถึงการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคการเมืองได้มีข้อเสนอพรรคละประมาณ 7 ข้อ โดยข้อเสนอต่างๆจะรวบรวมเพื่อเสนอครม.ต่อไป สำหรับการทำงานของป.ย.ป.จะมีต่อไป โดยจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาล จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่จะตั้งขึ้น และที่ประชุมได้รายการการออกกฎหมายที่ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปี 2 ปี และดูว่าใครเป็นเจ้าภาพ เมื่อถามว่าในที่ประชุม นายกฯ ได้มีการพูดถึงกำหนดการการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี นายกฯพูดเพียงว่าเดือนต.ค.มีกำหนดการสำคัญคือพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และประมาณปลายปีจะมีเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังจากนั้นจะเดินอย่างไรก็อยู่ที่กฎหมายลูกที่จะออกมา ซึ่งขณะได้ส่งกฎหมายลูก 2 ฉบับจากทั้งหมด 10 ฉบับเข้าสภาไปแล้ว คือกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ยังมีกฎหมายที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับ คือกฎหมายเลือกตั้งส.ส.และกฎหมายการได้มาซึ่งส.ว. ทั้งนี้ ถ้าออกมาครบทั้ง 4 ฉบับเมื่อไหร่ จะสามารถนับหนี่งการเลือกตั้งได้