"นายช่างศิลปกรรมอาวุโส"สำนักช่างสิบหมู่เผยฐานรองพระโกศจันทน์ใช้ 20 ลายฉลุไม้ 25,000 ชิ้น เริ่มประกอบลายเข้าโครงฐานรองฯ ต้นพ.ค.นี้ ความคืบหน้าจัดสร้างฐานรองพระโกศจันทน์ (พระหีบจันทน์) พระโกศจันทน์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายพิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้าการจัดสร้างฐานรองพระโกศจันทน์(พระหีบจันทน์) และพระโกศจันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ล่าสุดได้ดำเนินการขึ้นโครงฐานรองพระโกศจันทน์ และพระโกศจันทน์แล้ว โดยในส่วนของฐานรองนั้นอยู่ในขั้นตอนของการตกแต่งลายละเอียดโครงที่ได้ทำการขึ้นตัวโครงสร้างเหล็กไว้ ก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังจัดสร้างพระโกศจันทน์ ท้องสนามหลวง ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ เพื่อทำการบุลวดตาข่ายเพื่อเข้าสู่กระบวนการประกอบลาย ซึ่งช่างสิบหมู่ได้ร่วมกับจิตอาสาได้ทำการฉลุลวดลาย และเข้าช่อไว้ได้แล้วกว่าร้อยละ 90 และเกือบครบทุกลายที่ใช้แล้วและจะเริ่มประกอบลายได้ในช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้ สำหรับลวดลายที่จะนำมาประกอบฐานรองพระโกศจันทน์จะใช้ทั้งหมด 20 ลาย ได้แก่ 1.บัวเชิงฐานหน้ากระดานล่าง รวมชิ้นไม้ฉลุจำนวน 1,274 ชิ้น 2.ขาสิงห์ จำนวน 200 ชิ้น 3.นมสิงห์ 80 ชิ้น 4.บัวปากฐาน 1,360 ชิ้น 5.ดอกไม้ไหวปากฐาน 1,026 ชิ้น 6.สังเวียน 2,000 ชิ้น 7.เครือเถา 4,752 ชิ้น 8.กระจังรวน 840 ชิ้น 9.ดอกจอกหน้ากระดานบน 1,056 ชิ้น 10. อุบะ 456 ชิ้น 11.บัวเชิงบาตร104 ชิ้น 12. ช่อไม้ไหว 1,000 ชิ้น 13.บัวถลาฝา 2,080 ชิ้น 14.คิ้วขอบบัวถลา 12 ชิ้น 15.กระจังฝา 620 ชิ้น 16.ช่อไม้ไหวบัวถลา 464 ชิ้น 17.กุดั่นดอกจอกฝา 1,940 ชิ้น 18.เฟื่อง 4,902 ชิ้น 19.รวงผึ้งท้องสิงห์ 28 ชิ้น และ 20.กระจังปากฝา โดยรวมแล้วประมาณ 25,000 ชิ้นลาย คาดว่าจะใช้เวลาประกอบประมาณ 1 เดือนจึงแล้วเสร็จ "สำหรับพระโกศจันทน์นั้นได้มีการขึ้นโครงไว้แล้ว และได้มีการฉลุลวดลายที่จะนำมาใช้ประกอบในเบื้องต้นไว้บ้างแล้ว เมื่อได้รับแบบลายที่จะใช้ดำเนินการครบถ้วนมาแล้ว ตนจะนำแบบมาขยายเท่าจริงเพื่อทำการฉลุลวดลายตามแบบที่ใช้ ซึ่งในส่วนของจัดสร้างฐานรองพระโกศจันทน์ และพระโกศจันทน์ครั้งนี้ นับว่าดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ และทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราได้รับความร่วมมือจากจิตอาสา แบ่งเป็นกลุ่มช่างที่สามารถช่วยงานการโกรกฉลุลวดลายได้กว่า 20 คน และอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาขัดกระดาษทรายไม้จันทน์ และงานด้านต่างๆ ที่มีทั้งประชาชนที่มีความตั้งใจถวายงาน และเด็กนักเรียนช่างจากวิทยาลัยต่างๆ โดยตนได้จัดลำดับเป็นผลัด เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีแด่ในหลวงร.9 เป็นครั้งสุดท้าย" นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กล่ม ภาพ...ช่างฉลุลายกลุ่มศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กำลังขัดตกแต่งลายเฟื่องระย้า และใช้ลายจำนวน 20 ลาย รวมจำนวนชิ้นไม้ฉลุประมาณ 25,000 ชิ้น ประกอบลายฐานรองพระโกศจันทน์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช