รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล มรดกของคณะราษฎร ในทางศิลปการดนตรี เมื่อเร็วๆ นี้มีคนถามผมว่าคณะราษฎรได้ทำอะไรเพื่อประเทศชาติบ้าง นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 แถมยังแจกแจงข้อด้อยของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบของคณะราษฎรให้ผมฟังอย่างละเอียดถี่ยิบ ว่าแท้จริงแล้วเป็นการปกครองแบบเผด็จการและหาผลประโยชน์ใส่ตัวทั้งสิ้น เมื่อผมถามว่าเขาได้ข้อมูลเหล่านั้นมาจากไหน เขาตอบอย่างมั่นใจว่ามาจากการอ่านนิยายของนักเขียนชื่อดังผู้หนึ่ง ซึ่งมีความสมจริงน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม คำถามของเขาก็เป็นคำถามที่น่าสนใจ และทำให้ผมพยายามเรียบเรียงความคิดว่าคณะราษฎรได้ทำประโยชน์อันใดแก่ประเทศไทยบ้าง โดยเฉพาะจะพยายามเพ่งพินิจไปที่กรณีของศิลปการดนตรีที่ผมสนใจเป็นพิเศษ ผมคิดว่าเราควรเริ่มต้นกันที่เรื่องของโรงเรียนนาฏศิลป กล่าวโดยย่อคือ ในช่วงต้นรัชกาลที่ 7 มีข้อมูลชัดเจนว่าข้าราชสำนักในกรมมหรสพจำนวนมากที่เป็นนักดนตรีต้องถูกปลดออกจากราชการ ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และส่งผลให้นักดนตรี ครูโขน-ละครเหล่านั้นต้องกลายเป็นบุคคลไร้สังกัด และถึงจะมีการจัดแสดงโขนละครดนตรีอีกบ้าง ก็เป็นเพียงครั้งคราว ไม่ได้มีสถานะดีดังเดิมเช่นที่เคยมีมาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่การเกิดขึ้นของกรมศิลปากร และแนวคิดเรื่องการกระจายการศึกษาของคณะราษฎร (ประกาศข้อ 6 - จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร) ทำให้ครูบาอาจารย์เหล่านี้ถูกเชิญกลับมารับราชการอีกครั้ง ในตำแหน่งผู้ให้การศึกษา ก่อเกิดเป็นโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ หรือที่ปัจจุบันเรารู้จักกันดีในนามวิทยาลัยนาฏศิลป ซึ่งทำหน้าที่สืบสานวัฒนธรรมไทยทั้งโขนละครดนตรีมาเป็นเวลานานกว่า 70 ปีแล้วนั่นเอง และประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ ก็คือการที่นโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (และคณะซึ่งเต็มไปด้วยนักปราชญ์ราชบัณฑิต เช่น พระยาอนุมานราชธน, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร, พระนางเธอลักษมีลาวัณ เป็นต้น) ผลักดันให้นักดนตรีไทยเรียนรู้การบันทึกโน้ตเพลงแบบสากล ส่งผลให้นับแต่นั้นมา เพลงไทยจำนวนมากได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และไม่สูญหายไปง่ายๆ เมื่อนักดนตรีเสียชีวิตอย่างเช่นในอดีตอีกต่อไป นอกจากนั้น นโยบายสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีหลวงวิจิตรวาทการเป็นกำลังสำคัญ ยังได้สร้างปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ ก่อเกิดละครและเพลงปลุกใจจำนวนมากที่เรายังคงรู้จักกันดีในปัจจุบัน เช่น เพลงอยุธยา ศึกบางระจัน ตื่นเถิดชาวไทย ฯลฯ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของละครอย่าง เลือดสุพรรณ และเพลงปลุกใจอย่าง ต้นตระกูลไทย นั้นยังขับเน้นเรื่องวีรกรรมของ “สามัญชน” ดังปรากฏการเอ่ยถึงชื่อชาวบ้านหลายคนในศึกบางระจัน เป็นต้น ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าการปรากฏขึ้นของวีรบุรุษอย่าง ชาวบ้านบางระจัน พระยาพิชัยดาบหัก ในวัฒนธรรมป๊อปของไทย ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิต หรือได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากนโยบายสร้างชาติในสมัยนั้นทั้งสิ้น และนี่ย่อมรวมถึงการเชิดชูวีรกรรมของท้าวสุรนารี ที่นำมาสู่การก่อสร้างอนุสาวรีย์ที่โคราชในปี พ.ศ. 2477 หลังการปฏิวัติ 2475 เพียงสองปีเท่านั้น นอกจากนั้น แม้ว่านโยบายปรับปรุงวัฒนธรรมไทยให้เป็นสากลของจอมพล ป. จะถูกค่อนแคะ และมีหลายประเด็นที่ดูลักลั่น แต่ในส่วนของการปรับปรุงดนตรีไทยให้เข้ากับความเป็นสากลแล้ว ต้องถือเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการบรรเลงผสมเครื่องดนตรีไทยกับสากลเข้าด้วยกัน และส่งผลให้เกิดวงสุนทราภรณ์ (ซึ่งสังกัดอยู่กับกรมโฆษณาการ) อันเป็นวงดนตรีสำคัญ และเป็นที่นิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมป๊อปของไทย เกิดการนำทำนองเพลงไทยเดิมไปใส่เนื้อเข้ากับดนตรีที่เรียบเรียงในแบบสากล ได้รับการชื่นชมยกย่องจากสาธารณชนส่วนมากตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน จึงแน่นอนว่า ทั้ง เพลงปีใหม่, สงกรานต์, ลอยกระทง ที่เรารู้จักและร้องได้กันอยู่อย่างในทุกวันนี้ ล้วนแต่เป็นมรดกตกทอดมาจากนโยบายของคณะราษฎรทั้งสิ้น วัฒนธรรมบันเทิงนี้ ยังครอบคลุมไปถึงการ “รำวง” ที่ได้รับการประดิษฐ์ท่ารำมาตรฐานขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2480 และแพร่หลายไปในทุกภาคส่วนของสังคมไทย ผ่านทั้งทางโรงเรียนและหน่วยงานราชการต่างๆ หรือแม้กระทั่ง “เพลงชาติ” ที่เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ ก็คือผลผลิตของคณะราษฎรโดยตรง ถึงที่สุดแล้วคงพูดได้ว่า เกือบทั้งหมดของอะไรๆ ที่เราเห็นว่าคือสัญลักษณ์ของ “ความเป็นไทย” ในทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตหรือสืบเนื่องมาแต่นโยบายของคณะราษฎรทั้งนั้นนั่นเอง