ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น ช่างสิบหมู่ งานช่างหลวงศิลปกรรมชาติ ระยะนี้คงได้ยินชื่อสำนักช่างสิบหมู่อยู่บ่อย เกี่ยวกับงานศิลปกรรมปั้นรูปองค์มหาเทพ สัตว์มงคล เพื่อนำไปประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวงรัชกาลที่ 9” นอกจากงานกลุ่มประติมากรรมแล้ว ยังมีกลุ่มงานกลุ่มจิตรกรรม กลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา กลุ่มประณีตศิลป์ ประกอบด้วยกลุ่มงานช่างเขียนและช่างลายรดน้ำ กลุ่มงานช่างแกะสลักและช่างไม้ประณีต กลุ่มงานช่างโลหะและช่างศิราภรณ์ กลุ่มงานช่างหุ่นปั้นลายและช่างมุก กลุ่มงานช่างปิดทองประดับกระจกและช่างสนะไทย ที่เกี่ยวข้องพระเมรุฯ และราชรถ ในงานพระราชพิธีดังกล่าว ที่นี้หลายท่านคงอยากรู้ว่าทำไมถึงเรียก “ช่างสิบหมู่” ก็เลยเอาข้อมูลสำนักช่างสิบหมู่มาให้ได้ทราบกันโดยรวมๆ สังเขป ช่างสิบหมู่เป็นช่างหลวงกรมหนึ่ง สังกัดกรมศิลปการ ซึ่งประกอบไปด้วย “ช่าง” หลายแขนง ซึ่ง “ช่างหลวง” หมายถึง ผู้ที่มีฝีมือ มีความรู้ ความสามารถ เป็นผู้สร้างสรรค์งานด้านศิลปกรรมสนองต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งช่างเหล่านี้ปฏิบัติงานราชการ รับเบี้ยหวัดเงินเดือน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เช่นเดียวกับเสนาบดีและข้าราชการคนอื่นๆ โดยช่างหลวงนี้ทำงานตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ในอดีต การดำเนินงานของช่างหลวงเป็นงานประณีต สวยงาม ใช้ประดับเป็นเครื่องยศ ใช้ในราชพิธีมากกว่าการสร้างเพื่อใช้งานหรือใช้ในชีวิตประจำวันของคนสามัญทั่วไป ในสมัยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีการรับสมัครช่างเข้ามารับราชการบ้าง ถวายตัวเข้ารับราชการบ้าง ต่างมีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินตามความรู้และความสามารถของตน บรรดาช่างที่รับราชการเหล่านี้ เรียกว่า “ช่างหลวง” คำว่า “ช่างสิบหมู่” ค้นพบหลักฐานจากเอกสารลายลักษณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการทำงานด้านศิลปกรรมระหว่าง “ช่างหลวง” กรมอื่น ๆ และ “ช่างสิบหมู่” ซึ่งเป็นช่างหลวงด้วยเช่นกัน จวบจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรวบรวมช่างหลวงที่สังกัดกรมต่างๆ และกรมช่างสิบหมู่ซึ่งเป็นช่างหลวงวังหน้าของฝ่ายพระราชวังบวรฯ เข้าไว้ด้วยกันกับช่างสิบหมู่ของวังหลวง เพื่อให้การปฏิบัติงาน การสั่งงาน และงบประมาณอยู่ในที่เดียวกัน ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2454 ได้ก่อตั้ง “กรมศิลปากร” ขึ้น มีการย้ายกรมทั้ง 3 กรมเข้ามาไว้ในกรมศิลปากร คือ กรมช่างข้างใน กรมช่างทอง และกรมช่างสิบหมู่ ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในกรมศิลปากรอย่างต่อเนื่องจนถึงพุทธศักราช 2548 จึงเกิด “สำนักช่างสิบหมู่” เนื่องจากแยกสำนักสถาปัตยกรรมออกจากกองหัตถศิลป์ โดยเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สำนักสถาปัตยกรรม” และ “สำนักช่างสิบหมู่” จนถึงปัจจุบัน สำนักช่างสิบหมู่ได้จัดแบ่งโครงสร้างการบริหารจัดการออกเป็น 5 กลุ่ม 1 ฝ่าย ดังนี้ กลุ่มประติมากรรม กลุ่มจิตรกรรม กลุ่มศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา กลุ่มประณีตศิลป์ ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย และฝ่ายบริหารงานทั่วไป ภารกิจในความรับผิดชอบของสำนักช่างสิบหมู่ ตามกฎกระทรวงวัฒนธรรม ปี พ.ศ. 2554 ในข้อที่ 8 ระบุอำนาจหน้าที่ไว้ หลักๆ ผดุงรักษา ฟื้นฟู ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สืบทอดศิลปะวิทยาการด้านช่างฝีมือ เป็นศูนย์ข้อมูลด้านศิลปกรรมของชาติ ดำเนินการด้านช่างและงานศิลปะในการบูรณะ ซ่อมแซม เพื่อการอนุรักษ์งานศิลปกรรมที่มีคุณค่าของชาติ ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ สร้างสรรค์งานประณีตศิลป์ งานจิตรกรรมและงานประติมากรรมรวมทั้งงานศิลปประยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ควบคุม ดูแลและสนับสนุนการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ เผยแพร่ สนับสนุน ส่งเสริม แหล่งเรียนรู้ ให้บริการทางการศึกษางานด้านศิลปกรรมแก่สถานศึกษา ชุมชน และสังคม รวมทั้งสร้างเครือข่ายด้านศิลปกรรม กำหนดเกณฑ์และรับรองมาตรฐานงานด้านศิลปกรรมสำหรับส่วนราชการของกรม และปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย นอกจากภารกิจข้างต้นแล้ว มีการเผยแพร่งานด้านศิลปกรรมด้วยการจัดนิทรรศการตามสถานที่ต่างๆ ตลอดจนเปิดให้สถานศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กร สถาบันต่างๆ เข้าศึกษาดูงานศิลปกรรมภายในสำนักช่างสิบหมู่ อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม ไม่ใช่เพียงแค่สร้างคุณค่าศิลปกรรมของชาติเท่านั้น งานด้านศิลปะการช่างยังให้องค์ความรู้แก่ประชาชน ด้วยการเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งทางด้านวิชาการ และทักษะการสร้างงานศิลปกรรม ของแต่ละช่วงคอร์สเปิดอบรมมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก หรือแม้แต่งานจัดสร้างศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ และราชรถ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ยังเปิดโอกาสให้ช่างจิตอาสาทุกวัย ที่มีความรู้พื้นฐานงานด้านช่างแต่ละแขนง หรือผู้ที่ไม่มีความรู้แต่มีใจอาสาเข้ามามีส่วนร่วม สามารถนำสิ่งที่ได้จากการร่วมลงมือ เรียนรู้ นำไปเป็นประสบการณ์ กล่าวได้ว่า “ช่างสิบหมู่” นอกจากเป็นงานช่างหลวงแล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ งานด้านศิลปกรรมของชาติ ที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาตกทอด ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา เป็นศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของความเป็นไทย ช่างสิบหมู่ งานช่างหลวงศิลปกรรมชาติ