ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] “บึงกิว” เฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล วันนี้สร้างสุขยั่งยืนแก่ชาวบ้านธงธานี-บึงนคร พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเคยไปเยือนบึงกิว พื้นที่เกี่ยว 2 ตำบลคือธงธานีและบึงนคร อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อราวปี2557 ไปดูอ่างเก็บน้ำที่กรมทรัพยากรน้ำโดยสำนักทรัพยากรน้ำภาค 4 ขอนแก่นดำเนินการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ “น้ำคือชีวิต”เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 ที่ทรงให้ความสำคัญเรื่องน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของสรรพสิ่งสรรพชีวิตเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ สัตว์ต่างๆ ต้นไม้ พืชพันธุ์ธัญญาหารล้วนต้องพึ่งพิงน้ำทั้งสิ้น โดยทรงนำสร้างแหล่งน้ำเพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นเบื้องต้น ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ "...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่นถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ภ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทาน วันที่ 17 มีนาคน 2529 ณ พระตำหนักจิตลดารโหฐาน ในช่วงนั้น ณ พื้นที่ริมบึงกิวบางส่วน กรมทรัพยากรน้ำพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้เฉลิมพระเกียรติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๗ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ โดยมีต้นแบบอาชีพการเกษตรในหลายรูปแบบทั้งการปลูกผัก การเลี้ยงปลาเลี้ยงกบ ปศุสัตว์ให้นักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง ให้ชาวบ้านที่สนใจได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้แล้วนำเอากลับไปใช้ในพื้นที่ตัวเอง พล.อ.ดาว์พงษ์ก็ได้ไปเป็นประธานเปิดศูนย์เรียนรู้เฉลิมพระเกียรติดังกล่าวด้วย “บึงกิว”เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติดั่งเดิมในอำเภอธวัชบุรี เป็นพื้นที่ราบลุ่มหนองน้ำขนาดใหญ่ ลักษณะไม่ใช่บึงหรือหนอง แต่คล้ายลำน้ำ เดาว่าเดิมน่าจะเป็นลำน้ำ แต่น้ำมีปริมาณมากตรงช่วงที่เรียกว่าบึงกิวเพราะลุ่มต่ำกว่าที่อื่นๆ พื้นที่รอบๆบึงเป็นพื้นที่ทำนาเป็นหลัก ไกลจากบึงออกไปพื้นที่สูงขึ้นหรือที่มักเรียกกันว่าที่ดอนเป็นที่สูงกว่าตัวแหล่งน้ำก็ปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่บึงกิวในวันนี้จึงอยู่ท่ามกลางท้องนา รับน้ำมาจากลำน้ำชี มาเติมเต็ม ที่วันนี้ยังมีน้ำมากพอให้ชาวบ้านเกษตรกรได้พึ่งพิงเป็นปัจจัยดำรงชีวิตด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณ ประชาชน 2 ตำบลในอำเภอธวัชบุรีได้รับประโยชน์ใช้สอยน้ำจากบึงทำนาทำการเกษตรอื่นๆคือตำบลธงธานีและตำบลบึงนคร ตัวบึงเองยังเป็นแหล่งน้ำที่ขยายพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงนกน้ำเพิ่มความสมบูรณ์ระบบนิเวศน์ บึงกิวจึงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนอีกแหล่งหนึ่ง ประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของบึงกิวคือเป็นจุดรับน้ำที่หลากมาในหน้าฝน มีศักยภาพชะลอความหลากแรงด้วยการพักน้ำไว้มิให้หลากไปอย่างรวดเร็วรุนแรงจนสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตและทรัพย์สินชาวบ้าน หน้าแล้งก็มีน้ำเหลือเก็บกักไว้ในบึงให้ชาวบ้านได้ใช้สอยอย่างที่เห็นเป็นอยู่ในวันนี้ ที่ผ่านมาหลายสิบปีก่อนที่ไม่มีหน่วยงานในเข้าไปทำการฟื้นฟู ไม่มีการดูแลใดๆประชาชนเองก็ต่างคนต่างอยู่ไม่ได้รวมพลังดูแลบึงกิวอย่างจริงจังจึงมีวัชพืชขึ้นปกคลุมเต็มบึงไปหมด ตะกอนที่ไหลมาตามน้ำฝนน้ำหลากทับถมกันปีแล้วปีเล่าสร้างความตื้นขืนยิ่งขึ้น นำพาประชาชนบุกรุกถมที่ริมบึงเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว ทำให้พื้นที่แหล่งน้ำแคบลง ศักยภาพในการเก็บกักและช่วยบรรเทาน้ำหลากลดน้อยลงไปมากมาย สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านโดยรวมมาอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งการเก็บกักน้ำไว้ใช้สอยในหน้าแล้ง แล้วความเดือดร้อนของชาวบ้านนั่นเองนำไปสู่การวมตัวเพื่อร้องขอความเกื้อกูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพย์ฯโดยสำนักทรัพยากรน้ำภาค4 ได้เข้าไปฟื้นฟูดังที่เกริ่นข้างต้นพัฒนาเพิ่มศักยภาพบึงให้เก็บกักน้ำได้จากเดิม 2 ล้านกว่าลูกบาศก์เมตร(ล.ลบม.)เป็นเก็บกักได้ 4 ล.ลบม.กว่า หลังจากเพิ่มปริมาณน้ำได้แล้วปรากฏว่า ชาวบ้านย่านนั้นทำนาเพิ่มเป็น 2 ครั้งต่อปีมีน้ำปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ น้ำมีให้ใช้พอเพียงตลอดทั้งปี ช่วงเดือนเมษายน2560 ผู้อำนวยการลุ่มน้ำชีสำนักทรัพยากรน้ำภาค4 ให้ข้อมูลว่าในปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่น่าห่วงเรื่องความแห้งแล้ง แต่บึงกิวยังมีน้ำพอให้เกษตรกรทำนา ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์เช่นเป็ด ยังมีปลาให้ได้เสาะหาเป็นอาหารอยู่พอสมควร เพราะหลังจากที่ได้มีการพัฒนาฟื้นฟูบึงกิวเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9แล้วชุมชนท้องถิ่นช่วยกันดูแลรักษาสืบสานให้คงสภาพอุดมสมบูรณ์ต่อไปมีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าด้วยตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งน้ำ หากขาดแคลนน้ำลงแล้วก็หมายถึงชีวิตที่จะต้องอับเฉาขาดความชุ่มชื้นปัจจัยแห่งความเจริญงอกงามทั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล บึงกิวฟังแค่ชื่อก็ออกจะแปลกๆ จะหมายถึงอะไรกัน เป็นภาษาถิ่นหรือภาษาไทย มีที่มาว่าตามหนังสือที่ทางการเขียนถึงเรียกว่า”บึงกิว”หรือ”บึงจิ๋ว” แต่ป้ายประจำหมู่บ้านเขียนว่า “บึงจิว”เสาะหาข้อมูลกับหลายผู้คนในพื้นที่ แรกๆไม่มีใครรู้เลย จนไปพบผู้สูงอายุท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า ชาวบ้านเรียกบึงจิวมานานแล้ว กร่อนมาจากคำว่า “กิ่ว”ที่คนอีสานเขาหมายถึง “เรียวยาว” ความหมายดูจะคล้ายคลึงภาคกลางคือเรียว,คอด คงจะเกิดเฉพาะช่วงท้องที่ ภาพรวมบึงไม่น่าจะหมายถึงเล็กกระจิ๊ดริดจนกลายเป็น “จิ๋ว”แน่นอน เพราะจุน้ำได้ขนาดนี้ไม่จิ๋วแน่ แต่ที่ทางการใช้ว่า “กิว” ไม่รู้ว่าจะไปตีเข้ากับภาษาอังกฤษ “guild”เขียนไทยว่า “กิล”แต่คนไทยมักออกเสียงว่า “กิว”รึเปล่าแปลว่า “ชุมชน” สนใจก็ไปสืบค้นกันเอาทอดนะครับ ได้ความยังไงจะบอกกันเป็นกุศลก็ขอบคุณล่วงหน้า ชาวบ้านริมบึงกิวชื่อ นายอุไร อินทโสต อายุ 69 ปี เป็นกรรมการทรัพยากรน้ำและมีหน้าที่ช่วยดูแลบริหารการใช้น้ำในบึงด้วยบอกว่า มีที่ 15 ไร่ ได้ข้าวพอสมควรเพราะได้น้ำจากบึงกิวที่ผ่านขายข้าว พออยู่ได้มีกำไรนิดหน่อย ทำอย่างอื่นไปด้วย ปลาก็หาเอาในบึง มีผักเยอะไม่ต้องชื้อเช่นผักบุ้ง “ผมก็ดูแลให้การใช้ประโยชน์จากบึงเป็นไปตามความเหมาะสม เช่นการจับปลาตามช่วงฤดูกาล ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่ออนุรักษ์ให้มีปลากินกันตลอดไป มีบางคนเสนอให้เลี้ยงปลากระชังก็เสนอไม่ให้ทำ เพราะจะเกิดน้ำเน่าเสีย เป็นผลร้ายกับบึงและชาวบ้าน ดูแลการใช้น้ำให้เกิดความเท่าเทียม รณรงค์ให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ เอาหญ้าแฝกมาปลูกริมคันบึงกันดินไหลลงน้ำป้องกันตลิ่งทรุด แล้วก็ให้ประชาชนดึงน้ำจากลำรางไม่ให้ยุ่งกับตัวบึง การฟื้นฟูบึงนี้ที่กรมน้ำมาทำให้ชาวบ้านปลื้มมาก เพราะทำเพื่อถวายในหลวงร.9 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ชาวบ้านบอกว่าเท่ากับเรามีแหล่งน้ำพระราชทานเป็นสิริมงคล ก็จะช่วยกันดูแลรักษาใช้น้ำอย่างรู้ค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถึงตรงนี้ก็อยากฝากผ่านสื่อด้วยเลยว่า มีการเสนอให้พัฒนาเกาะกลางบึงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีสิ่งก่อสร้างรองรับ ความเห็นผมไม่อยากให้ทำ ผลเสียจะมากกว่าผลดีนั่นคือเป็นการทำลายแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำ นกน้ำ และสัตว์อื่นๆที่เกี่ยวข้องรวมเป็นระบบนิเวศน์ จะเกิดการมั่วสุมเพียงแต่อยากให้ทางราชการช่วยขุดลอกเอาตะกอนบางส่วนออกให้น้ำเข้าไปตรงกลางได้ สัตว์น้ำต่างๆจะได้อาศัยพักวางไข่”อุไรบอกสีหน้าแฝงความกังวลอยู่พอสมควร นางเหรียญทอง กายะเวศ ราษฎรในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำบึงกิวอีกคนหนึ่ง ซึ่งใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำแห่งนี้ทั้งการทำนา เลี้ยงเป็ดและเลี้ยงปลา กล่าวว่า “เมื่อก่อนที่กรมทรัพยากรน้ำจะมาปรับปรุงฟื้นฟูที่บึงจิว พื้นที่แห่งนี้รกมากมีวัชพืชมาก เกิดมาก็เห็นเลย ใช้น้ำลำบากมาก พอมาขุดลอกแล้วทำให้ใช้น้ำได้สะดวกมากทุกอย่าง มีประตูน้ำเปิดปิดได้ น้ำไหลสะดวก ทำนาปรังได้ดี นาปีก็ได้มาก เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ดมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บไข่ทุกวัน และยังมีแมงดาเยอะมากวันละนับร้อยตัวมีรายได้แต่ละวันนับพันบาท มีร่องน้ำและยังมีถนนให้ใช้สัญจรไปมาได้ด้วย มีประโยชน์มากจริงๆกับโครงการนี้...”นางเหรียญทองกล่าวด้วยรอยยิ้ม สุดท้ายนายเลิง และ นางล่ำ บุตรรัตน์ สองสามีภรรยาวัย ๖๖ ปีและ ๖๔ ปี บ้านเลขที่ ๓๔หมู่ ๗ บ้านสังข์ ต.บึงนคร อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ที่เวลากลางวันจะอาศัยอยู่เขียงนาขนาดย่อม มีนา๘ ไร่ เป็นที่แบ่งจากมรดกผืนใหญ่กว่า ๕๐ ไร่ ริม “หนองบึงกิว” ที่ ณ วันนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วย “น้ำ” มีเกาะกลางพื้นที่รักษาระบบนิเวศต่างๆให้คงอยู่ บอกว่า “ ฉันทำนามาตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนที่หนองบึงจิวแห่งนี้ แน่นและรกไปด้วยวัชพืชต่างๆ น้ำน่ะมี แต่ว่ามีน้อย ทำนาก็ใช้แต่น้ำฝนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนนาปรังไม่ได้ทำเพราะน้ำมีไม่พอ แต่ ณ วันนี้เรามีน้ำใช้อย่างพอ โดยเฉพาะนาปรัง มั่นใจว่าฉันทำได้แน่นอน...”สองสามีภรรยาช่วยกันบอก กล่าวย้อนไปถึงที่พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ตอนนั้นกล่าวย้ำในเวลานั้นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานหนักเพื่อจะสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนของพระองค์ พระราชทานโครงการพระราชดำริไว้เป็นต้นแบบแก่ราษฎรน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตนับไม่ถ้วน การพัฒนาแหล่งน้ำที่ดำเนินการนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ และเป็นของขวัญแก่คนจังหวัดร้อยเอ็ด “พี่น้องทุกคนทุกภูมิภาคคงจะเห็นทางสื่อประจำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือแผนที่ตลอดเมื่อเสด็จฯไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เพื่อทรงดูว่าจะหาแหล่งน้ำให้ประชาชน เพราะทรงทราบดีว่าน้ำสำคัญแก่ชีวิต จึงทำโครงการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำถวายพระองค์ท่าน และเกิดผลสะท้อนคือประโยชน์สู่พวกเราทุกคน เมื่อทรงรู้ว่าพวกเรามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมีความสุขก็จะทรงสำราญพระราชหฤทัย พวกเราก็ได้คลอง ได้น้ำมา ได้มาแล้วก็ต้องช่วยกันรักษาด้วยความหวงแหน เพราะนี่คือมรดกที่สำคัญของพวกท่าน”พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวคราวดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ บึงกิว จังหวัดร้อยเอ็ด ...........................................................