“ช่างศิลปกรรม”เร่งคัดลอกลายสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่ อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารในหลวง ร.9 คาดแบบลายทั้งหมดส่งให้ช่างไม้แกะสลักสิ้นเดือนพ.ค.นี้ ความคืบหน้าจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายสุเพล สาสตร์เสริม นายช่างศิลปกรรมชำนาญการ สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า ได้ดำเนินการคัดลอกลวดลายพระที่นั่งราเชนทรยานใช้เชิญพระโกศพระบรมอัฐิ เพื่อดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ให้ลวดลายคมชัดอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังเป็นการคัดลอกลายพระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิมเพื่อเป็นต้นแบบในการจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่สำหรับอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐานสุสานหลวง เหตุที่ต้องคัดลอกลาย เนื่องจากพระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิมซ่อมบูรณะครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2527 การซ่อมแต่ละครั้งปิดทองทับอย่างเดียว ทำให้ลวดลายไม้และลายกระจกถูกปิดทับและหายไป ซึ่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การบูรณะต้องสมพระเกียรติมากที่สุด ถือเป็นโอกาสในลอกผิวทองที่ชำรุดออก ขัดล้างทำความสะอาด เพื่อให้ลายชัดเหมือนในการจัดสร้างครั้งแรก นายสุเพล กล่าวอีกว่า ตนเก็บรายละเอียดรูปแบบ รูปทรงจากพระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิมเพื่อเป็นข้อมูลซ่อมแซม จากการลอกผิวทองออก พบว่ารูปครุฑที่เป็นงานศิลปกรรมชิ้นเอกใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ดวงตาประดับด้วยกระจกโค้ง ปีกประดับด้วยกระจกเขียวและขาว เป็นการสร้างงานที่ละเอียดมาก แสดงฝีมือช่างสมัย ร.1 ซึ่งช่างสิบหมู่จะฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในพระราชพิธีครั้งนี้ ข้อมูลลายอีกส่วนหนึ่งจะใช้สร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่ เพราะองค์เดิมรูปทรงพระที่นั่งเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีราวแผงพนัก ประดับกระจังรวนด้านข้างและกระจังปฏิญาณเปลวยอดเอียงไปด้านหลัง ลดหลั่นกันไป แต่องค์ใหม่รูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสจะประดับกระจังปฏิญาณลักษณะเดียว มียอดตั้งตรงเรียงกัน การสร้างองค์ใหม่จึงจำเป็นต้องปรับขนาดลวดลายไม้แกะสลักให้มีความเหมาะสมกับองค์ใหม่ ซึ่งการจัดสร้างองค์ใหม่จะใช้ลวดลายเดิมให้มากที่สุด “ขณะนี้การคัดลอกลายพระที่นั่งราเชนทรยานคืบหน้ากว่าร้อยละ 70 แล้ว อาทิ ลายชั้นครุฑ กระจังเจิม กระจังปฏิญาณ คันทวย รวมถึงหัวเม็ดคานสำหรับหาม ส่วนหุ่นโครงสร้างไม้ในส่วนองค์บุษบกด้านหน้าเขียนแบบแล้ว คาดว่าการคัดลอกทั้งหมดจะแล้วเสร็จสิ้นเดือนพฤษภาคม จะได้ทยอยส่งลายที่คัดลอกเสร็จแล้วให้กลุ่มไม้และช่างแกะสลักดำเนินการซ่อมแซมองค์เดิม และจัดสร้างองค์ใหม่ นอกจากนั้นแล้ว ระหว่างขั้นตอนของการบูรณะองค์เดิมและจัดสร้างองค์ใหม่ในพระราชพิธีครั้งนี้ ตนจะต้องเก็บบันทึกข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นหลักฐานว่าช่างสิบหมู่ได้ซ่อมเสริมสิ่งใดเข้าไปในส่วนที่ชำรุดเสียหาย เพื่อเป็นประโยชน์ในการบูรณะของช่างรุ่นหลัง" นายช่างศิลปกรรมชำนาญการ กล่าว