อัยการ ระบุ คดี ขับรถประมาทชนคนตายเข้าเงื่อนไขสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-อังกฤษ ชี้ ขั้นตอนการ ล่า “บอส อยู่วิทยา” หากขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว ให้ สตช. ติดต่อตำรวจสากลประสาน รวบตัว เมื่อวันที่ 28 เมษายน 60 นาย ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายขั้นตอนเรื่องการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีที่ คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ผู้ต้องหาคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 กันยายน 55 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องและประสานพนักงานสอบสวนขอศาลออกหมายจับ โดยผู้ต้องหามีภาพปรากฏตามสื่อมวลชนว่าพำนักอยู่ต่างประเทศว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นสามารถดำเนินการได้ทั้งตามสนธิสัญญาที่ทำระหว่างกัน ส่วนกรณีที่ไม่มีสนธิสัญญา ก็อาจขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้โดยอาศัยหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขต่างตอบแทนระหว่างกัน ซึ่งระหว่างประเทศไทยกับประเทศอังกฤษนั้นมีการทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันไว้ตามประกาศสัญญาว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ร.ศ. 129 ซึ่งสนธิสัญญาตามประกาศนี้จะกำหนดประเภทความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ โดยถึงแม้จะไม่ได้กำหนดให้ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นความผิดที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่ตามสนธิสัญญานี้ก็ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าความผิดอื่น ๆ นอกเหนือจากที่สนธิสัญญากำหนดไว้ ก็ให้สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ถ้ากฎหมายทั้งสองประเทศกำหนดให้ความผิดนั้นสามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้
" ซึ่งในเรื่องนี้ มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ของไทย กำหนดให้ความผิด ที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ต้องเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ คือทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายอังกฤษ และความผิดนั้นต้องมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนี้เป็นความผิดทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายอังกฤษ และมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปตามกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่จะร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มาตรา 5 นั้นกำหนดให้อัยการสูงสุด เป็นผู้ประสานงานกลางในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฝ่ายไทย " นาย ธนกฤตระบุ
นาย ธนกฤตยังกล่าวต่อว่า โดยพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มาตรา 30 กำหนดกระบวนการในการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้ว่า การร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย ให้ดำเนินการตามสนธิสัญญา แต่หากไม่มีสนธิสัญญา ให้ดำเนินการตามวิธีทางการทูต ดังนั้น การขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกรณีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา จึงต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ ซึ่งตามขั้นตอนพนักงานสอบสวนจะต้องไปร้องขอต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับ ซึ่งเป็นหลักฐานประกอบที่สำคัญในการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอังกฤษมายังประเทศไทยนี้ จะมีการเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดที่เป็นผู้ประสานงานกลาง ซึ่งอัยการสูงสุดจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าสมควรที่จะจัดทำคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ หากอัยการสูงสุดวินิจฉัยว่าสมควรที่จะจัดทำคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอังกฤษมายังประเทศไทย อัยการสูงสุดก็จะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ จัดทำคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและเอกสารประกอบต่อไป ซึ่งก็จะมีการส่งคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปตามช่องทางการทูตตามที่สนธิสัญญากำหนดไว้ โดยจะต้องส่งคำร้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทยและอังกฤษต่อไป นายธนกฤต กล่าวอีกถึงช่องทางในการที่จะทราบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหา การสืบหาตัวบุคคลว่า สามารถกระทำได้ตามสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา ซึ่งประเทศไทยได้ทำกับสหราชอาณาจักร และกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ไว้เพื่อสืบว่า นายวรยุทธ ผู้ต้องหา อยู่ที่ไหน ส่วนการจับกุมตัวตามหมายจับของศาลในคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเรื่องนี้ก็จะเชื่อมโยงกับการประสานงานขอความร่วมมือผ่านไปยังเครือข่ายของตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพล (องค์กรตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ) ซึ่งขั้นตอนตรงนี้เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องดำเนินการและประสานขอความร่วมมือไปยังเครือข่ายของตำรวจสากลในประเทศที่พบตัว นาย วรยุทธ เพื่อประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศนั้นจับกุมตัวมาเข้าสู่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป โดยศาลของประเทศที่รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาชี้ขาดว่าจะให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่
" สำหรับเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้จะมีความยุ่งยาก ถ้าผู้ที่ถูกขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เดินทางไปมาในหลาย ๆ ประเทศอยู่เรื่อย ๆ จะทำให้ไม่มีความชัดเจนว่าควรจะร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศใดดี และจะทำให้การจับกุมตัวตามหมายจับประสบความยากลำบากด้วย " อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุ