"ประยุทธ์" กล่าวสุทรพจน์ในที่ประชุม Prosperity for All Summit มั่นใจการส่งเสริมไมโครเอสเอ็มอีที่มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 95 ของธุรกิจทั้งหมดในแต่ละประเทศสมาชิก จะทำให้เศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมอาเซียนเข้มแข็ง ไทยพร้อมแบ่งปันโมเดลประเทศไทย เพื่อให้ภูมิภาคมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงตามโครงสร้างเศรษฐกิจของภูมิภาค เมื่อวันที่ 28 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยาที่เดินทางไปเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายนนี้ โดยนายกฯและคณะเดินทางถึงประเทศฟิลิปปินส์ในเวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของฟิลิปปินส์ให้การต้อนรับ พร้อมเดินผ่านแถวทหารเกียรติยศ ก่อนเดินทางไปยังโรงแรมดุสิตธานี มะนิลา ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก จากนั้นเวลา 17.00 น. วันเดียวกันนี้นายกฯ กล่าวสุนทรพจน์ปิดการประชุม Prosperity for All จัดโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ABAC) ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของประชาคมอาเซียน ที่ให้เข้าร่วมเสนอแนวคิดเรื่องการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย หรือ ไมโครเอสเอ็มอี MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprises) เป็นภารกิจแรกในการเดินทางร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ นายกฯกล่าวว่า รัฐบาลได้เปลี่ยนจากเอสเอ็มอี มาเป็นการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย หรือไมโครเอสเอ็มอี เป็นเรื่องที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค เพราะมีจำนวนรวมกันมากกว่าร้อยละ 95 ของธุรกิจทั้งหมดในแต่ละประเทศสมาชิก หากธุรกิจเหล่านี้มีความเข้มแข็ง ก็เชื่อได้ว่า เศรษฐกิจของอาเซียนและประชาคมอาเซียนจะมีความแข็งแกร่ง และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และไมโครเอสเอ็มอีเป็นผู้เล่นหลัก ส่วนภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีกิจการที่อยู่ใน ไมโครเอสเอ็มอี ถึง 5 ล้านกิจการ และรัฐได้จัดตั้งกองทุนเพื่อเอสเอ็มอี ในแนวทางประชารัฐ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไมโครเอสเอ็มอี ทุกกลุ่มจังหวัดในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา ให้สามารถกลับไปตั้งต้นเป็นไมโคร เอสเอ็มอีในภูมิลำเนาได้ และในอนาคตจะเน้นช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอีภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และภาคบริการที่กำลังเติบโตมากขึ้น การดำเนินตามแนวทางที่วางไว้ ในการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ในเรื่องการพัฒนาไมโครเอสเอ็มอีเกิดขึ้นได้จริง "สิ่งที่อาเซียนต้องดำเนินการคือปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ให้รวดเร็ว ร่วมกันคิดอะไรเป็นอุปสรรค ปัญหา และความแตกต่าง และปรับให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อความสำเร็จที่เราจะมีต่อไป เป็นสิ่งที่ไทยพร้อมจะร่วมมือและแบ่งปันโมเดลประเทศไทย เพื่อให้ภูมิภาคมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่พวกเรามี หากอาเซียนมีความเข้มแข็งก็จะช่วยลดความขัดแย้ง ความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้" นายกฯกล่าว นายกฯ กล่าวชื่นชมบทบาทที่สร้างสรรค์ของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนในการจัดการประชุมครั้งนี้ ที่สำคัญยังได้ริเริ่มเครือข่ายผู้นำภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะช่วยกันออกแบบหลักสูตรการพัฒนาระดับสากลให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ในอาเซียน เนื่องจากตลาดโลกมีความท้าทายมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาทุนมนุษย์ให้มากขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนในอาเซียนจะช่วยให้เราสร้างสรรค์ข้อริเริ่มที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคได้ การที่ประเทศสมาชิกร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งต่อไปจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาคมโลกต่อเศรษฐกิจของเอเชีย ตนหวังว่าทุกฝ่ายจะได้รับแรงบันดาลใจที่จะร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาไมโครเอสเอ็มอี ภายในประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และร่วมมือกันทำงาน เพื่อประโยชน์ของทุกคนและเยาวชนรุ่นหลัง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จากนั้นช่วงค่ำเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมะนิลาและภริยา เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ภริยา และคณะ ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา