ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ อนุสรณ์สามรัชกาล เสด็จฯประทับแรมระนอง เมืองระนองในมุมเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีอยู่หลายแห่ง สถานที่หนึ่งที่ผู้ไปเยือนต้องแวะชม นั่นคือ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ รัชกาลที่ 5 พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ หรือ พระราชวังรัตนรังสรรค์ ตั้งอยู่บนเชิงเขานิเวศน์ ถนนลุวัง ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นพระที่นั่งสร้างจำลองขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ปี พ.ศ. 2433 หรือเมื่อ 127 ปีมาแล้ว โดยอาคารพระที่นั่งจำลองนี้สร้างด้วยไม้ตะเคียนทอง สถาปัตยกรรมผสมผสาน หลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยประดับเชิงชายไม้ฉลุซ้อนกันอย่างพม่า มีความสวยงาม มีการบริหารจัดการโดยมูลนิธิพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ มีเทศบาลเมืองระนองรับผิดชอบดูแล บำรุง รักษาและพัฒนาเชิงแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของเมืองระนอง ด้วยพระที่นั่งรัตนรังสรรค์(จำลอง) ตั้งอยู่บนเชิงเขานิเวศน์ ทำให้สามารถแลเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองระนอง และยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดินสวยงามอีกมุมหนึ่งของเมืองระนอง หากกล่าวถึงประวัติความเป็นมาพระที่นั่งรัตนรังสรรค์หลังแรกนั้น พอจะสืบค้นภาพเก่าและข้อมูลมาบอกเล่าได้ โดยข้อมูลสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนองเรียบเรียงไว้ (ธนกร สุวุฒิกุล) ขอคัดมาสังเขป ดังนี้ ปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประพาสตรวจหัวเมืองชายทะเลในพระราชอาณาเขต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เสด็จไปถึงจังหวัดระนอง โดยโปรดฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ กำหนดแผนที่ทำเรือนไม้บนเขา และพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองขณะนั้นได้สร้างพลับพลาถวายเป็นที่ประทับบนยอดเขา เสด็จฯ ประทับแรม ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ เป็นเวลา 3 ราตรี ระหว่างวันที่ 23 – 25 เมษายน พ.ศ. 2433 พระที่นั่งรัตนรังสรรค์หลังแรก พระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับพระที่นั่งรัตน์รังสรรค์องค์แรกและเขานิเวศน์ ทรงพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า ...ที่เขานี้ เขาว่าสูงร้อยสิบฟิต แต่เป็นเนินลาดๆ มีที่กว้างใหญ่โตกว่าเขาสัตนาถมาก (ปัจจุบันคือวัดเขาวังในจ.ราชบุรี) พลับพลาที่ทำนั้นก็ทำเสาไม้จริง เครื่องไม้จริง กรอบฝาและบานประตูใช้ไม้จริง แต่กรุใช้ไม้ระกำทั้งลำเข้าเป็นลายต่างๆ หลังคานั้นมุงไม้เกล็ดแล้วสองหลัง นอกนั้นมุงจากดาดสี ใช้สีน้ำเงินจะให้เหมือนกันกับหลังคาไม้ซึ่งทาสีไว้ มีท้องพระโรงหลังหนึ่ง ที่อยู่ข้างในใหญ่หลังหนึ่ง ยกเป็นห้องนอนสูงขึ้นไปหลังหนึ่ง ที่อยู่ข้างในใหญ่หลังหนึ่ง มีคอนเซอเวนเตอรี่ (เรือนกระจก) ยาวไปจนหลังแปดเหลี่ยมอีกหลังหนึ่ง ที่หลังเล็กซึ่งเป็นที่นอนและที่หลังแปดเหลี่ยม แลดูเห็นเมืองระนองทั้วทั้งเมือง หน้าต่างทุก ๆ ช่อง เมื่อยืนดูตรงนั้นก็เหมือนหนึ่งดูปิกเชอ(รูปภาพ) แผ่นหนึ่งแผ่นหนึ่ง ด้วยแลเห็นทุ่งนาออกไปจนกระทั้งถึงภูเขาซึ่งอยู่ใกล้ชิด ได้ยินเสียงชะนีร้องเนือง ๆ สลับซับซ้อนกันไป ด้านหนึ่งก็เป็นได้อย่างหนึ่ง ด้านหนึ่งก็เป็นอย่างหนึ่ง ไม่เคยอยู่ที่ใดซึ่งตั้งอยู่ในที่แลเห็นเขาทุ่งป่าและบ้านเรือนคนงามเหมือนอย่างที่นี่เลย ... การตบแต่งประดับประดาและเครื่องที่จะใช้สอยพรักพร้อมบริบูรณ์อย่างปีนัง ตามข้างทางและชายเนินก็มีเรือนเจ้านายและขัาราชการหลังโตๆ มีโรงบิลเลียด โรงทหารพรักพร้อมจะอยู่สักเท่าใดก็ได้ วางแผนที่ทางขึ้นทางลง ข้างหน้าข้างในดีกว่าเขาสัตนาถมาก เสียแต่ต้นไม้บนเนินนั้นไม่มีต้นไม้ใหญ่ ที่เหลือไว้ก็เป็นต้นไม่สู้โต ต้นเล็กๆ ที่ตัดก็ยังเป็นตอสะพรั่งอยู่โดยรอบ แต่ในบริเวณพลับพลาปลูกหญ้าขึ้นเขียวสดบริบูรณ์ดีทั่วทุกแห่ง...เวลาเย็นได้ลงดูตามเนินนั้นโดยรอบ แล้วขึ้นเขาเล็กอีกเขาหนึ่งซึ่งอยู่หน้าท้องท้องพระโรง คล้ายเขาหอพระปริตที่เพ็ชรบุรี ปลูกศาลาไว้ในหมู่ร่มไม้เป็นที่เงียบสงัด เวลากลางวันนี้ไม้ร้อนด้วยครึ้มฝน เวลากลางคืนหนาวปรอทถึง 75 องศา ... พระราชทานชื่อพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ มีความหมายว่า พระที่นั่งที่พระยารัตนเศรษฐีเป็นผู้สร้าง (25 เม.ย. 2433) ทรงมีพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า “ พระยาระนอง (พระยารัตนรังสรรค์ – คอซิมก๊อง) ขอให้ตั้งชื่อพลับพลานี้เป็นพระที่นั่ง ด้วยเขาจะรักษาไว้เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และขอให้ตั้งชื่อถนนด้วย จึงได้ให้ชื่อพระที่นั่งว่า รัตนรังสรรค์ เพื่อจะได้แปลกล้ำๆ พอมีชื่อผู้ทำเป็นที่ยินดี เขาที่ทำวังนี้ให้ชื่อว่า นิเวศน์คีรี ...” ลักษณะทั่วไปของพระที่นั่งนี้ มีลักษณะเป็นกลุ่มเรือนไม้ขนาดใหญ่ มีทางเดินเชื่อมต่อกันโดยตลอด องค์พระที่นั่งสร้างด้วยไม้สักและไม้กระยาเลย ส่วนฝาพระตำหนักใช้ไม้ระกำ หลังคาเป็นรูปแปดเหลี่ยมมุงด้วยกระเบื้องไม้ ซึ่งลักษณะพิเศษคือเป็นพระที่นั่งที่มีการเข้าสลักไม้แทนตะปู เป็นการนำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคใต้มาใช้ในงานสถาปัตยกรรม และพระที่นั่งนี้รับเสด็จฯ ถึงสามรัชกาล หลังรัชกาลที่ 5 แล้ว พระที่นั่งได้ชำรุดทรุดโทรมลง ในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่) เป็นเจ้าเมืองระนอง (พ.ศ.2433 – 2460) จึงได้ร่วมกับสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ปรับปรุงและดัดแปลงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ใหม่ โดยสร้างเป็นรูปเรือนตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว หันหน้ามุขไปทางด้านทิศตะวันตกและประดับตราพระครุฑพ่าห์ ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2444 แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางเมืองระนองเรื่อยมา พระที่นั่งองค์ใหม่นี้ยังได้ใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เมืองระนองครั้งแรกคราวประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ประทับแรม 4 ราตรี (16-19 เม.ย. 2452) ครั้งที่สอง เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว เสด็จฯ เยี่ยมหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก เสด็จฯ ประทับแรม 3 ราตรี (17-19 เม.ย. 2460) และในรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ ประพาสเยี่ยมหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันตก ประทับแรม 1 ราตรี ในวันที่ 29 มกราคม 2471 ลุมาถึงปี 2507ทางจังหวัดได้รื้อถอนองค์พระที่นั่ง เพื่อสร้างเป็นศาลากลางจังหวัด พระที่นั่งรัตนรังสรรค์จึงสูญหายไปจากจังหวัดระนองตั้งแต่บัดนั้น นับเป็นการสูญเสียโบราณสถานอันมีคุณค่าและมีความสำคัญยิ่งของชาวจังหวัดระนอง ปัจจุบัน บริเวณที่ตั้งของพระที่นั่งเป็นเนินเขาซึ่งมีชื่อว่าเขานิเวศน์คีรี มีศิลาสลักประดับไว้เป็นสำคัญ โดยยังมีร่องรอยเป็นบันไดและบริเวณให้เห็น ทางจังหวัดได้อนุรักษ์ไว้ และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2520 อย่างไรก็ดี ในช่วงฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี (พ.ศ. 2525) ทางจังหวัดจึงได้ค้นคว้าหลักฐานภาพถ่าย และขอคำแนะนำจากกรมศิลปากรเกี่ยวกับรูปแบบพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ที่ถูกต้อง แล้วจำลองพระที่นั่ง ย่อส่วนขนาด 1:100 จัดตั้งแสดงไว้บริเวณชั้นล่างของศาลากลางจังหวัดระนอง เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชมพระที่นั่งที่มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม และเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด เช่นกัน พระที่นั่งรัตนรังสรรค์(จำลอง) บนเชิงเขานิเวศน์ เป็นอนุสรณ์การเสด็จประทับแรมของในหลวงทั้งสามรัชกาล