สนช. “ยกทัพ”ลงตรัง พบปะประชาชน ตั้งวงถกรับฟังปัญหา ขณะที่แบ่งกลุ่มลงพื้นที่ สำรวจโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานตรัง และท่าเทียบเรือปากเมง เมื่อเวลา 10.30น. วันที่ 29 เมษายน ที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย อ.เมือง จ.ตรัง คณะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดินทางมาพบปะภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนในจังหวัดตรัง ตามโครงการสภานิติบัญญัติแห่งชาติพบประชาชน ณ จังหวัดตรัง โดยมี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่สอง นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สนง. นายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ และนาง ประภาศรี บุญวิเศษ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 26 คน โดยมี นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พล.ต.ต.สมพงศ์ ทองใบ ผบก.ภ.จว.ตรัง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาคเอกชน และประชาชน ร่วมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคในด้านต่าง ๆ ทั้งจากส่วนราชการและจากประชาชนในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การแก้ไขภายใต้บทบาทอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังเป้าหมายที่ว่า “สะท้อนปัญหา นำพาแก้ไข ห่วงใยประชา” โดยที่ทางจังหวัดตรัง มีประเด็นหลัก เกี่ยวกับปัญหาท่าเรียบเรือปากเมง และการพัฒนาศักยภาพท่าอาศยานตรัง นายศิริพัฒ กล่าวว่า การเดินทางของ สนช.เพื่อมาพบปะประชาชนจังหวัดตรัง เป็นสิ่งที่ดี เป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้สะท้อนปัญหา ความต้องการให้ สนช.ได้รับรู้เพื่อนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งประชาชนจะได้รับทราบบทบาทหน้าที่ของ สนช.มากยิ่งขึ้น นายพิพนธ์ กล่าวว่า วันนี้ การเดินทางมาพบปะประชาชนของ สนช. ตามโครงการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพบประชาชนเริ่มดำเนินการครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2557 ปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว จำนวน 27 ครั้ง รวม 52 จังหวัด ซึ่งจากการดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557-ธันวาคม 2559 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทั้งสิ้น 7,236 ราย สามารดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว จำนวน 5,887 ราย คิดเป็นร้อยละ 81.36 และอยู่ระหว่างดำนินการ จำนวน 1,349 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.64 ขณะที่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า การเดินทางมาพบปะประชาชนจังหวัดตรัง นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ยังถือเป็นโอกาสที่ สนช.จะได้นำปัญหาดังกล่าวไปดูแลต่อไป เท่าที่ทราบ ขณะนี้ทางจังหวัดตรังมีโครงการที่กำลังดำเนินการคือ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานตรัง และท่าเทียบเรือปากเมง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งเรื่องดังกล่าว ทาง สนช.จะลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงเพื่อจะได้มีการขับเคลื่อนต่อไป ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาหลายเรื่องสะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็น ด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งจะต้องมีแก้ปัญหากันก่อน จึงจะสามารถขับเคลื่อนไปเทศชาติได้ ทางด้านนางประภาศรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบอบการปกครองประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มีการบริหารแบ่งออกเป็น 3 ด้าน นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ปัจจุบัน มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ออกกฎหมาย กำหนดทิศทางการใช้ชีวิตของประชาชน ด้วยกฎหมาย จึงมีการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆดูความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก เพื่อเสนอออกมาเป็นกฎหมาย ที่ผ่านมีการเสนอกฎหมายให้ สนช.พิจารณา จำนวน 298 ฉบับ เห็นชอบไปแล้ว 239 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 222ฉบับ และมีผลใช้บังคับ 212 ฉบับ โดยเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2557 จำนวน 49ฉบับ 2558 จำนวน 51 ฉบับ 2559 จำนวน 75 ฉบับ และปิ 2560 จำนวน 64 ฉบับ จากนั้นในช่วงบ่าย คณะจะลงพื้นที่มีการแบ่งทีมลงพื้นที่ศึกษาปัญหาท่าเทียบเรือปากเมง ณ ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 4 ตำบลนาบินหลา อำเภอเมืองตรัง และลงพื้นที่พบตัวแทนกลุ่มสตรี ณ ห้องประชุมมรกต ศาลากลางจังหวัดตรังอีกด้วย