รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ได้มีคำสั่งให้บริษัทสัจจะประกันภัย จำกัดหยุดรับประกันภัยชั่วคราว พร้อมกับแก้ไขปัญหากิจการแล้ว ปรากฎว่า ได้มีประกาศนายทะเบียนเข้าควบคุมเรื่องการจ่ายเงินอื่นของบริษัทสัจจะฯ โดยตั้งคณะทำงานเข้าไปควบคุมการจ่ายเงินดังนี้ 1.นางสาวจารุณีย์ สุขสมสังข์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายตรวจสอบ 1 ,2.นายธีระยุทธ ไผ่ตาแก้ว ผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบ 4/2 ,3.นายธีรศักดิ์ ปานประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนสอบสวนการฉ้อฉลประกันภัย ,4.นางจันทิมา เมืองน้อย ผู้อำนวยการส่วนคุ้มครองสิทธิประโยชน์ 2/3 ,5.นายศิริชัย ปิ่นโมรา ผู้อำนวยการส่วนบริหารและประเมินผล 3/2 6.นางสาวเยาวเรศ จุติกุลทรัพย์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารและประเมินผล 5/3 ,7.นายพงศกร ภาณุสานต์ ผู้อำนวยการส่วนกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ ,8.นางสาวเสาวนีย์ เหลืองระลึก ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ประเภททรัพย์สิน ,9.นางสาวสุชา อังคภากรณ์กุล ผู้อำนวยการส่วนวางแผนและพัฒนากฎหมาย 2/3 ,10.นางประภาพรรณ์ เชาว์วิศิษฐ์ ผู้อำนวยการส่วนคดี 2/2 ,11.นายภควัต รังคะภูติ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ธุรกิจ ,12.นางสาวอรุณี ช่างสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่ชำนาญการ และ13.นางสาวณัฐวรรณ ภิรมยาภรณ์ เจ้าหน้าที่ชำนาญการ ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน เป็นต้นไป โดยห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ โดยนายทะเบียนกำหนดให้บริษัทสามารถจ่ายเงินโดยความเห็นชอบของนายทะเบียนหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียนได้ดังต่อไปนี้คือ การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยโดยตรง หรือผู้ที่ได้รับมอบให้เป็นผู้รับค่าสินไหมทดแทนโดยชอบ เช่น บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โรงพยาบาล หรือตามคำพิพากษาของศาล หรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ,การจ่ายเงินคืนค่าเบี้ยประกันแก่ผู้เอาประกัน ,การจ่ายค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ,การจ่ายค่าสื่อสืร เช่นค่าไปรษณีย์ ค่าโทรศัพท์ ค่าโทรสาร อินเตอร์เน็ต เป็นต้น ,การจ่ายค่าภาษี ค่าอากร หรือค่าภาษีอากร ตามที่กฎหมายกำหนด ,การจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าปรับ เงินจ่ายหรือเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด และเงินจ่ายตามคำสั่งศาล ,การจ่ายเงินตามความจำเป็นเพื่อเร่งรัดติดตามหรือเรียกคืนหนี้สินค้างจ่ายของบริษัท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คาดว่า บริษัทสัจจะฯจะหาเงินมาใช้แก้ปัญหาครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้สินที่ค้างเก่าจากสมัยบริษัทกมลประกันภัย และมีการขอเจรจาเจ้าหนี้บริษัทประกันภัยและเจ้าหนี้อื่นๆโดยวิธีการขอแฮร์คัดลง 50% แต่บริษัทยังไม่ชำระ โดยเฉพาะบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทติดค้างเงินสมทบ 12.5% จำนวนหนึ่ง บวกกับสินไหมที่บริษัทกลางฯสำรองจ่ายให้ไปก่อนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งค้างมาตั้งแต่สมัยยังใช้ชื่อบริษัทกมลประกันภัยตก 18 ล้านบาท กระทั่งมาเปลี่ยนชื่อเป็นสัจจะประกันภัย ก็น่าจะตกรวมๆแล้วกว่า20ล้านบาท เช่นเดียวกับเงินสมทบ2.5%ที่ต้องจ่ายให้กับคปภ.เป็นประจำจำนวนหนึ่ง บวกกับเงินค่าปรับที่ค้างจ่ายให้กับคปภ.อีกหลายล้านบาททีเดียว ทั้งนี้นอกจากเรื่องของการหาเงินมาสะสางปัญหากิจการของบริษัทสัจจะประกันภัยแล้ว โจทย์หินและเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียวของบริษัทสัจจะฯก็คือ การหาตัวกรรมการผู้จัดการคนใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของคปภ.เข้ามา ทำหน้าที่ตามเงื่อนไขของนายทะเบียนคปภ. นับเป็นเรื่องยากทีเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการเสนอชื่อนางลินดา เมฆดารา มาทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการแล้ว แต่ทางคปภ.ไม่ยินยอม อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้มีการออกคำสั่งนายทะเบียนให้หยุดรับประกันภัยชั่วคราวดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีข้อความที่แชร์ว่อนกันในไลน์ของวงการประกันภัย โดยเข้าใจว่า น่าจะเป็นของนายธีระเดช เมฆดารา สามีนางลินดา เมฆดารา ประธานกรรมการบริหารบริษัท ในฐานะที่ปรึกษาบริษัทได้ส่งข้อความชี้แจงทำความเข้าใจให้กับทางผู้บริหารภายในบริษัท โดยมีข้อความสาระสำคัญดังนี้ "ผมขออนุญาตชี้แจงแก่ทุกท่านที่ให้ความเชื่อมั่นกับสัจจะของเราเกี่ยวกับกรณีถูกเข้าควบคุมชั่วคราวดังนี้ 1. ประเด็นเอาเงินออกและบันทึกบัญชีไม่ถูกต้อง บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมตัวเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลท ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับปรุงฐานะทางการเงินให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของตลท. และข้อเรียกร้องของ คปภ. (การล้างเบี้ยค้าง) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนหนึ่ง กรรมการจึงต้องเพิ่มเงินเข้ามาในบริษัท ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไปกู้ยืมเงินระยะสั้นมาจากภายนอก ซึ่ง คปภ ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ ทั้งๆที่ ไม่ผิดกฎหมายหรือกฎระเบียบใดๆ และเป็นเรื่องที่ใครๆก็ทำกัน 2. เรื่องเงินกองทุนไม่เพียงพอ เกิดจาก หลังจากที่เข้าซื้อกิจการแล้ว พบว่าค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ประมาณการ ทำให้มีภาระมากมาย ประกอบกับยอดขายในปี 60 ที่เข้ามาเร็วกว่าที่คิดไว้ ทำให้การจัดหาเงินกองทุนไม่ทันในบางเดือน แต่การรักษาระดับ car ratio ยังสูงกว่ามาตรฐานมาก 3.ความผิดที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากมุมมองของผู้กำกับดูแลจะมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานเพื่อความถูกต้องในอนาคต หรือจะมองว่าการทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ผิด" ผมในฐานะผู้ดูแลองค์กร ต้องกราบขอโทษทุกท่านที่ทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ผมจะแก้ไขให้เป็นสถานะปกติโดยเร็วที่สุด ผมใคร่ขอยืนยันว่า ผมตั้งใจที่จะทำให้สัจจะประกันภัยเป็นบริษัทใน ตลท. และเป็นบริษัทประกันภัยที่มีธรรมมาภิบาลให้ได้ครับ..ธีระเดช” ทั้งนี้นายธีระเดชยังได้ส่งข้อความในไลน์กลุ่มผู้บริหารบริษัทสัจจะฯโดยยืนยันว่า จะเคลียร์ปัญหาทุกอย่างให้จบ โดยขอเวลาใน 2 อาทิตย์นี้