เปิดใจเด็กวิทยาลัยช่างทองหลวง "สลักดุนเฟื่องระย้าเงิน" ประดับพระที่นั่งราเชนทรยาน ตามที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้ประกาศรับสมัครอาสาสมัครร่วมปฏิบัติงานจัดสร้างพระโกศจันทน์ และงานศิลปกรรม เครื่องประกอบพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นั้น กลุ่มนักศึกษากาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ระดับ ปวช.และ ปวส. สาขาวิชาช่างทองหลวง ได้สมัครเป็นจิตอาสา และได้รับการคัดเลือกจากกรมศิลปากร จำนวน 30 คน ให้ปฏิบัติงานในส่วนของการสร้างฉัตรโลหะ ประกอบพระเมรุมาศ (งานโลหะและงานบุดุน) รับหน้าที่ในการสลักดุนเฟื่องระย้าเงิน ประดับพระที่นั่งราเชนทรยาน พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย และราชรถน้อย จำนวน 3 องค์ องค์ละ 12 ชุด รวม 36 ชุด ซึ่งทำจากโลหะเงินนำมาบุดุนเป็นลายใบเทศ จากนั้นนำไปฉลุลาย ประดับกระจก แล้วจึงนำไปประดับตกแต่งในส่วนบุษบก โดยเริ่มปฏิบัติงานนับแต่เดือน มี.ค.60 ทั้งนี้ นักศึกษากาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง ทุกคนที่ได้รับการคัดเลือก ต่างมีทักษะฝีมือ ความชำนาญ งานด้านโลหะและงานบุดุน ตามหลักสูตรที่วิทยาลัยจัดการเรียนการสอน "คิดว่า...เป็นบุญของเรา ที่ได้ทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ 9" น.ส.นภัสชนา รัตนศรีชัยวรา นักศึกษา ปวส.2 สาขาช่างทองหลวง เผยว่า ได้เข้ามาทำงานเป็นจิตอาสา เพราะทางสำนักช่างสิบหมู่ ประกาศรับสมัครจิตอาสาทำเครื่องประกอบพระเมรุมาศ อาจารย์จึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบ ตนเองรู้สึกว่าเป็นครั้งเดียวในชีวิต ที่จะได้ทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะสร้างความภาคภูมิใจ ไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่พ่อแม่ก็ปลื้มปีติไปด้วยที่เราได้มีโอกาสมาทำงานถวาย เพราะเป็นการทำงานที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ แต่เราโชคดีที่เรียนสาขางานช่างทองหลวง ถึงได้รับการคัดเลือกเข้ามา เพราะไม่ต้องมาหัดทำหรือฝึกใหม่ เป็นงานที่เรียนอยู่แล้ว ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ จิระไวทยะ จากสาขาช่างทองหลวง เช่นกันเล่าว่า ตั้งแต่ทราบข่าวในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัย ก็รู้สึกเสียใจมาก จึงอยากทำงานถวายและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพระองค์ท่าน พอดีได้ทราบข่าวจากวิทยาลัย ว่าสำนักช่างสิบหมู่ ประกาศรับสมัครจิตอาสาที่มีความสามารถในด้านงานโลหะ (งานบุดุนโลหะ) จึงมาสมัครทันที เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสร้างพระโกศจันทน์และงานศิลปกรรมเครื่องประกอบพระเมรุมาศ "ผมได้รับหน้าที่สลักดุนเฟื่องระย้า เพื่อนำไปประดับในส่วนของพระที่นั่งราเชนทรยาน พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย และราชรถน้อย ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในงานครั้งนี้ และผมยังได้ใช้ทักษะและความสามารถที่ได้เรียนมาเฉพาะทางในงานครั้งนี้ด้วย นับเป็นเกียรติแก่ตัวผม และแก่วงศ์ตระกูลอย่างยิ่ง" นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าว นับเป็นความภูมิใจของชาวช่างทองหลวง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานสำคัญนี้ ซึ่ง ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ยังกล่าวว่า ได้มอบให้ กาญจนภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง ช่วยดูแลนักเรียน นักศึกษา ที่เป็นจิตอาสาทุกคนอย่างดีจนกว่างานจะแล้วเสร็จ และยังให้นักเรียน นักศึกษาฝึกงานที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน แต่มีฝีมือด้านงานศิลปกรรม เข้ามาช่วยงานที่มีความสำคัญยิ่งครั้งนี้ด้วย ---------------------