กรมทรัพยากรน้ำฟื้นฟู “ห้วยใหญ่” สนองแนวพระราชดำรัส “น้ำ คือ ชีวิต” อุบลราชธานี ถือเป็นจังหวัดใหญ่ที่ที่จัดตั้งมาแล้วกว่า ๒๐๐ ปีในภาคอีสานตอนล่าง มีทรัพยากรมากมายหลายด้าน มีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ ตลอดจนมีประเพณีอันงดงามที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งโบราณ หลายพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานีได้รับการกล่าวขานด้วยความชื่นชม เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไปในการไปเที่ยวชม และยังเป็นจังหวัดที่มีความสมบูรณ์ของ “น้ำ” มาเนิ่นนาน ทำให้มีผลิตผลที่เกิดจาก “น้ำ” มากมาย ทั้งพืชผลด้านการเกษตรและสัตว์น้ำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดอุบลราชธานีถึง 11 ครั้งตั้งแต่ปีพ.ศ.2498-2536 อันนับเป็นมิ่งขวัญสิริมงคลแก่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีหาที่สุดมิได้ “...ให้ทำการขุดลอกหนองน้ำธรรมชาติต่างๆ พร้อมก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้มากขึ้นจะเป็นการช่วยบรรเทาอุทกภัยได้ส่วนหนึ่ง และใช้เป็นแหล่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในช่วง ฤดูแล้งได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ “ปราชญ์แห่งน้ำ”ที่ถือเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งโลกถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในศาสตร์ต่างๆหลายด้าน โดยเฉพาะในด้าน “น้ำ” พระราชทานเมื่อวันที่๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ณ กิ่ง อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ ๗๐ ปี ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องของน้ำและทรงให้ความสำคัญยิ่งกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ด้วยพระอัจฉริยภาพอย่างลึกซึ้งว่าน้ำคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตของคนและสรรพสัตว์สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาความเจริญงอกงามแก่สรรพสิ่งทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขในวิถีชีวิตของราษฎรที่จำเป็นต้องมีน้ำเพื่อการดำรงอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของการเก็บกักน้ำในการอุปโภคบริโภคและใช้ในภาคเกษตรกรรมช่วงฤดูแล้งสร้างความพออยู่พอกินและสร้างชีวิตที่มั่นคงแก่เกษตรกรจากการมี “น้ำ” เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน “ลำน้ำมูล” ถือเป็นลำน้ำหลักที่มีความสำคัญยิ่งในพื้นที่ภาคอีสานนอกเหนือจากลำน้ำโขงและลำน้ำชี ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งในการสร้างวิถีชีวิตของราษฎรริมฝั่งลำน้ำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์จาก “น้ำ” ที่นับเป็นปัจจัยสำคัญใหญ่หลวงแก่ผู้คนจำนวนมากในหลายพื้นที่ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพในด้านเกษตรกรรม สืบทอดกันมายาวนานนับร้อยปี “ตบหู” เป็นตำบลหนึ่งของ อ.เดชอุดม จ. อุบลราชธานี มีเอกลักษณ์ในด้านวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนอาชีพเกษตรกรรม หัตถกรรม การประมง โดยเฉพาะการทำนาที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และมี “ลำน้ำซอม” ที่ถือเป็นลำน้ำหนึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล เป็นสายน้ำสำคัญของตำบลตบหู ที่ได้สร้างทั้งอาชีพ สร้างชีวิตและความหวังของราษฎรในพื้นที่มาช้านาน หลายปีที่ผ่านมานั้น “ห้วยใหญ่” ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญยิ่งของบ้านโนนแก้ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลตบหู แต่ความความตื้นเขินจากปัญหาของการทับถมตะกอนดินของตะกอนต่างๆ หลายปี และมีวัชพืชขึ้นหนาแน่น ซึ่งเป็นสภาพที่พบเห็นในพื้นที่แหล่งน้ำต่างๆจำนวนมาก ศักยภาพในการเก็บกักน้ำของห้วยใหญ่จึงลดน้อยลงไป ทำให้เกิดความเดือดร้อนในการใช้น้ำของราษฎรในหมู่บ้านและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงอีกจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ไม่นาน สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๑๑ อุบลราชธานี กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการประสานงานจากองค์การบริหารส่วนตำบลตบหูและผู้นำหมู่บ้านในบ้านโนนแก้งและหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการปรับปรุง ฟื้นฟู “ห้วยใหญ่” ขุดลอกเพื่อให้เป็นแหล่งน้ำที่เก็บกักน้ำได้มากดังอดีตสามารถใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวดั่งหลายปีก่อน เพราะราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ล้วนมีอาชีพด้านเกษตรกรรม สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค11 จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำตามโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำสนองแนวพระราชดำริน้ำคือชีวิตในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขุดลอกฟื้นฟูห้วยใหญ่ในพื้นที่บ้านโนนแก้ง หมู่ที่ ๕ ต.ตบหู อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ขุดลอกห้วยใหญ่ด้วยความกว้าง ๑๖๘ เมตร ยาว ๕๒๕ เมตร และลึก ๓.๕๐ เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้เกือบ ๙๐๐,๐๐๐ลูกบาศก์เมตร โดยมีการก่อสร้างท่อน้ำเข้าพื้นที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด ๘๐ เซนติเมตร จำนวน ๘ จุด รวมทั้งก่อสร้างบันไดคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน ๘ จุดสร้างความสะดวกในการใช้งาน เป็นที่ชื่นชมยินดีแก่ราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างมาก นายนิธินันท์ ถมนาม ผู้ใหญ่บ้านโนนแก้ง ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประสานงานกับสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๑๑ (อุบลราชธานี) ร่วมกับ อบต.ตบหู เพื่อให้กรมทรัพยากรน้ำได้เข้ามาปรับปรุง ฟื้นฟู ให้แหล่งน้ำ “ห้วยใหญ่” กลับคืนสู่ศักยภาพเก็บกักน้ำได้เต็มที่เพื่อมีน้ำเพียงพอสร้างความสมบูรณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรกล่าวกับคณะเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำว่า “ชาวโนนแก้งและหมู่บ้านใกล้เคียงต่างรู้สึกดีใจมากที่ได้เห็นห้วยใหญ่มีความสวยงามขึ้น ซึ่งหากปีนี้มีน้ำปกติ ก็คงเพียงพอในการเพาะปลูกพืชผลต่างๆ ตลอดจนการทำไร่นาสวนผสมสร้างชีวิตของชาวโนนแก้งให้ดีขึ้นในปีต่อๆไป ต้องขอบคุณกรมทรัพยากรน้ำเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาช่วยทำให้ห้วยใหญ่ซึ่งมีเนื้อที่นับร้อยไร่สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น ทุกวันนี้ ชาวโนนแก้งและหมู่บ้านใกล้เคียงต่างก็รู้สึกยินดีและดีใจมาก เพราะจะได้ใช้น้ำจากห้วยใหญ่แห่งนี้ใช้ประโยชน์ในการทำนา ทำสวน ทำไร่ ตลอดจนปลูกพืชผักต่างๆ ไว้กินไว้ขายหรือแบ่งปันกันในหมู่บ้าน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความผูกพันกันของผู้คนและทำให้ระบบนิเวศต่างๆของที่นี่ดีขึ้น ทุกวันนี้พวกเราชาวโนนแก้งก็ได้น้อมนำ แนวพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความสุขในครอบครัวและหมู่บ้านถือเป็นการดำเนินชีวิตตามรอยพระบาทของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตลอดจนศาสตร์ของพระราชาในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ทำให้ชาวบ้านต่างก็มีความหวังในการประกอบอาชีพและมีความสุขกับชีวิตในครอบครัว” จากความรู้สึกส่วนหนึ่งของราษฎรบ้านโนนแก้งที่ได้รับประโยชน์ภายหลังที่ได้เห็น “ห้วยใหญ่” ที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติดั้งเดิมในพื้นที่ ภายหลังที่กรมทรัพยากรน้ำได้เข้าพัฒนาด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูพร้อมเสริมระบบนิเวศทั้ง ๒ ฝั่งลำน้ำให้มีความสวยงามนั้น ได้สร้างความยินดีและดีใจ เกิดความมั่นใจในการใช้น้ำเพื่อประโยชน์ของทุกชีวิตในพื้นที่บ้านโนนแก้งและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงตรัสไว้ เกี่ยวกับความสำคัญของ “น้ำ” เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ณ ศาลาดุสิดาลัยพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ว่า “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำ น้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ...” พระราชดำรัส “น้ำ คือชีวิต” นี้ ถือเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่มีความสำคัญยิ่ง ซึ่งจะยังคงอยู่กับวิถีชีวิตของราษฎรในแผ่นดินไทยไปตราบนานเท่านาน “ห้วยใหญ่” ที่บ้านโนนแก้ง ต.ตบหู อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี แห่งนี้ ก็จะเป็นแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ที่กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการสนองพระมหากรุณาธิคุณเพื่อช่วยเหลือราษฎรในการสร้างความมั่นคง เกิดความมั่งคั่ง และมีวิถีชีวิตที่ดีมีความสุขยั่งยืนแก่ราษฎรในพื้นที่ต่อไปตราบนานเท่านาน ...................................................................... ทวีศักดิ์ สุขธงไชยกูล เรื่อง