ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม /เรียบเรียง/อลงกรณ์ รัตตะเวทินมทร.ธัญบุรี /ข้อมูล เปิดโครงการคุรุราชัน ‘พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน’ มทร.ธัญบุรีให้ครูและพสกนิกรร่วมสืบสานน้อมนำเป็นต้นแบบ(1) "...ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง  หันไปห่วงอำนาจ  ห่วงตำแหน่ง  ห่วงสิทธิ์และห่วงรายได้กันมากเข้าๆแล้ว  จะเอาจิตเอาใจที่ไหนมาห่วงความรู้  ความดี  ความเจริญของเด็ก  ความห่วงในสิ่งเหล่านั้นก็จะค่อยๆบั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น  จะไม่มีอะไรเหลือไว้พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ  หรือผูกใจใครไว้ได้  ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป..." พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่ครูอาวุโส ในโอกาสเข้าเฝ้าฯวันเสาร์ที่  21  ตุลาคม  2521 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่  21  ธันวาคม  2553  ถวายพระราชสมัญญา  "พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  7  รอบ  5  ธันวาคม  พุทธศักราช  2554  และเพื่อความเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พสกนิกรชาวไทยสืบไปตลอดกาลนาน พระผู้ทรงเป็นครูฯการศึกษาในระบบ พระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น  เริ่มจากในพ.ศ.  2489  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้นสำหรับพระราชโอรสพระราชธิดา  บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง  ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วยและเมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและหน่วยปฏิบัติการทหาร  ตำรวจตามบริเวณชายแดนทุรกันดารอยู่เนืองๆ  ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนที่เรียนของเด็กและเยาวชน  อันเนื่องมาจากการให้บริการของรัฐไม่ทั่วถึง  และมีปัญหาเรื่องความแตกแยกในอุดมการณ์ทางการเมือง  ทำให้เยาวชนบางส่วนขาดโอกาสทางการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ได้มีพระราชดำริให้ทหารช่วยก่อสร้างโรงเรียนเพื่อให้ทหารมีส่วนช่วยเหลือด้านการศึกษาตามโอกาสอันควรให้แก่ประชาชน  โดยทรงมอบหมายให้แม่ทัพภาคเป็นแกนนำในการก่อสร้างโรงเรียนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ  และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียน โรงเรียนดังกล่าวพระราชทานนามว่า "โรงเรียนร่มเกล้า"  นอกจากนี้พระองค์ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสำหรับชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในดินแดนทุรกันดารไกลการคมนาคม  มีชื่อเรียกว่า "โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์"และโรงเรียนอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากที่ตั้งขึ้นตามพระราชดำริ โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริและอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์  เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อให้เป็นสถานศึกษาสำหรับบุตรหลานข้าราชบริพารและแก่เยาวชนทั่วไป  โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ  ทรงอุปถัมภ์หรือทรงมีพระราชดำรัสแนะนำ  ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียน  พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและทรงเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนเป็นประจำมีจำนวน  104  โรง โรงเรียนจิตรลดา  กลุ่มโรงเรียนราชวินิต  โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชูปถัมภ์  กลุ่มโรงเรียนร่มเกล้า  โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์  โรงเรียนวังไกลกังวล  โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์มีโรงเรียนที่จัดตั้งตามพระราชดำริและอยู่ในความดูแลของมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆได้แก่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัในวโรกาสต่างๆเช่น โรงเรียนรัชดาภิเษก  จำนวน  10  โรงเรียน  โรงเรียนนวมินทราชูทิศ  5  โรงเรียน  โรงเรียนรัชมังคลาภิเษก  จำนวน  33  โรงเรียน  โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย  เป็นโรงเรียนที่พระราชทานนาม โดยต่อท้ายด้วยชื่อจังหวัดมี  9  โรงเรียน พระผู้ทรงเป็นครูฯ "การศึกษานอกระบบ" เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ  เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่  9  แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  เมื่อวันที่  9  มิถุนายน  พุทธศักรราช 2489 นั้น  สภาพบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยยังอยู่ในสภาพล้าหลัง  ประชาชนส่วนใหญ่ยังอัตคัดขัดสนในทุกด้าน ด้วยความที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของอาณาประชาราษฎร์  ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎร  โดยเฉพาะในพื้นที่ประชาชนยากจน  ห่างไกลและทุรกันดารเสียก่อน การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในระยะต้นรัชกาลระหว่างพ.ศ.  2494-2496  มีลักษณะเป็นการส่วนพระองค์  โดยทรงเยี่ยมราษฎรเพื่อทรงไต่ถามถึงความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของราษฎรอย่างใกล้ชิด ต่อมาการเสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรทั่วทุกภูมิภาคเปรียบประดุจดังการสร้าง "พระคลังข้อมูลด้านการพัฒนา"ด้วยพระองค์เอง  เพราะทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนนานาประการที่มวลพสกนิกรของพระองค์ประสบอยู่  จนมิอาจช่วยเหลือตนเองได้ สำหรับการศึกษาของประชาชนชาวไทยที่อยู่นอกระบบนอกโรงเรียน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับประชาชนที่อยู่ในชนบทเป็นอย่างมาก ทรงริเริ่มตั้ง "ศาลารวมใจ"ตามหมู่บ้านชนบทเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่อ่านหนังสือ  โดยพระราชทานหนังสือประเภทต่างๆแก่ห้องสมุด "ศาลารวมใจ"นอกจากนั้นมีพระราชดำริจัดทำโครงการ "พระดาบส"เมื่อพ.ศ. 2514