"คุรุสภา"เตรียมจัดทำมาตรฐานครูชุดใหม่ เหมือนกันทั้งประเทศ ด้าน สพฐ.วาง 4 แนวปฏิบัติแนะแนวเด็กเรียนตามถนัด วันที่ 3 พ.ค.60 ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้พระราชทานเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ จำนวน 40 ล้านบาท ทั้งนี้นายกฯ ได้มอบเงินดังกล่าวให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการ แบ่งเป็นสำหรับเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิต โดยมีเด็กได้รับทุนเรียนต่อจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 27 ทุน เป็นเงิน 15 ล้านบาท ส่วนอีก 25 ล้านบาท มอบให้ สพฐ.นำไปใช้ในการจัดซื้อโต๊ะเก้าอี้ ให้นักเรียนภายในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โฆษก ศธ. กล่าวต่อว่า นายกฯ ยังมอบหมายให้ ศธ.ไปดูเรื่องการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งนายกฯ ได้รับทราบข้อมูลการผลิตและพัฒนาครูของประเทศสิงคโปร์ พบว่ามีสถาบันผลิตครูเพียงแห่งเดียว ทำให้การผลิตครูมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ขณะที่ประเทศไทย มีสถาบันผลิตครูที่หลากหลาย แต่จะสามารถทำให้มีมาตรฐานเดียวกันแบบประเทศสิงคโปร์ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงขอให้คุรุสภา ไปดำเนินการ ซึ่งคุรุสภา รับว่าได้เตรียมการจัดทำมาตรฐานครูชุดใหม่ ให้เหมือนกันทั้งประเทศ อาทิ กำหนดว่าจะเรียน 4 ปีหรือ 5 ปี ต้องมีมาตรฐานใดบ้าง เป็นต้น ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ กำชับให้คุรุสภา เร่งดำเนินการจัดทำมาตรฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ภายใน 2 เดือนนี้ จากนั้นส่งให้สถาบันการผลิตครูดำเนินการตาม ซึ่งต่อไปสถาบันผลิตครูจะต้องสอนตามกรอบที่คุรุสภากำหนด ไม่ใช่คิดเองแล้วนำมาเทียบอย่างที่ผ่านมา "นอกจากนี้นายกฯ ยังปรารภว่าเด็กที่ประเทศสิงคโปร์ มีเส้นทางการเรียนชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น โดยเด็กจะรู้ตัวว่าควรจะเรียนอาชีวศึกษา หรือเรียนอุดมศึกษาและเลือกเรียนตามความถนัด ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปคิดมาตรการให้เด็กได้รู้เส้นทางการเรียนของตนเองตั้งแต่ต้น โดยมีแนวปฏิบัติใน 4 ข้อ คือ 1.ให้ สพฐ.จัดระบบแนะแนว 2.ให้จัดทำหลักสูตรให้เด็กชั้น ม.3 ได้ฝึกงานงานในช่วงปิดภาคเรียนที่ 2 เพื่อให้เด็กได้ทดลองว่า ชอบการทำงานดังกล่าวหรือไม่ 3.จัดให้มีระบบส่งเสริมอาชีพในโรงเรียน และ 4.ให้โรงเรียนขยายโอกาสกลับมาเน้นสอนอาชีพมากขึ้น" ดร.กมล กล่าว