กรมชลประทานเร่งเครื่องนำร่องโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประชารัฐใน 8 ลุ่มน้ำย่อยภาคตะวันออก ใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนผนวกหน่วยงานรัฐขับเคลื่อนปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งการฟื้นฟูศักยภาพแหล่งน้ำเดิมและการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยว่า เพื่อเดินหน้ายุทธศาสตร์การมีส่วนร่วม กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สำนักงานชลประทานที่ 9 และสำนักบริหารโครงการ จึงร่วมบูรณาการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐใน 88 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาป และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ในระหว่างปี 2560-2566 โดยนำร่องดำเนินการใน 8 ลุ่มน้ำย่อย 8 จังหวัด ก่อนในปี 2560-2561 ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด   นายสุจินต์  หลิ่มโตประเสริฐ  ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน  กรมชลประทาน ทั้งนี้ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงนามตั้งคณะทำงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ (คนป.) ทั้ง 8 จังหวัดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ คนป. ได้ลงพื้นที่และเตรียมเสนอรายชื่อคณะทำงานประชารัฐ (คปร.) ให้ฝ่ายปกครองแต่งตั้ง ซึ่งจะประกอบด้วยผู้แทนภาคอุปโภคบริโภค ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคท่องเที่ยว การรักษาระบบนิเวศ สถานศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ตามกรอบการดำเนินงานของ คปร. ประกอบด้วย การศึกษาสภาพที่มาที่ไปของปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม การจัดทำแผนปรับปรุง ซ่อมแซม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ การจัดทำแผนงาน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ในอนาคต และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษาความเหมาะสม “คณะทำงานประชารัฐ (คปร.) จะเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการในแต่ละลุ่มน้ำย่อย โดยในชั้นต้นในปี 2560 จะศึกษาสภาพปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ และเสนอแนวทางฟื้นฟูศักยภาพน้ำให้กลับมาใช้งานได้ตามศักยภาพเดิม ชั้นต่อไปในปี 2561 จึงศึกษาและเสนอแผนหรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำระยะยาว 20 ปี ล้อไปตามยุทธศาสตร์ของประเทศ แต่ไม่ว่าการฟื้นฟูหรือการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ คปร. จะเสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องไปศึกษาความเหมาะสมและดำเนินโครงการ อาจเป็นกรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า หรือกรมชลประทาน และ ฯลฯ ก็สุดแท้แต่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด” นายสุจินต์กล่าว นายสุจินต์กล่าวว่า รูปแบบการดำเนินงานแบบประชารัฐผนวกกับการมีส่วนร่วมของประชาชน จะช่วยคลี่คลายปัญหาเรื่องน้ำได้แบบเบ็ดเสร็จในตัว กล่าวคือคณะทำงานประชารัฐนั้น รวมเอาทุกหน่วยเกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน เข้าเป็นกรรมการในการศึกษาปัญหาทุกด้าน ทำให้เกิดความรอบด้านในการแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาก็จัดทำเป็นข้อเสนอ แล้วส่งให้หน่วยงานเกี่ยวข้องรับไปพิจารณาและดำเนินการ “ คล้ายๆ แนวคิด One Stop Service กลายๆ เพราะทุกภาคส่วนร่วมศึกษาปัญหาน้ำมาด้วยกัน พอจะแก้ปัญหา หน่วยงานไหนรับผิดชอบเรื่องอะไรก็แทบจะเอาไปดำเนินการได้เลย เป็นการบูรณาการแก้ปัญหาไปในตัว เป็นข้อเด่นของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ” การเลือกพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 9 ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากสอดคล้องกับแนวคิดของ นายเกิดชัย ธัญวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 ที่ต้องการให้การแก้ไขปัญหาน้ำใช้วิธีการให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งจะคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งได้ดีกว่าเดิม และถือว่าคนในพื้นที่เผชิญปัญหาน้ำด้วยตัวเอง ย่อมรับรู้ปัญหาได้ดีกว่า โดยกรมชลประทานจะนำเอาความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมาช่วยวางแผนออกแบบ และพัฒนาโครงการตอบโจทย์ปัญหาให้ประชาชน ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ประกาศใช้การดำเนินโครงการแบบประชารัฐ ซึ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้นอย่างบูรณาการจริงจัง กรมชลประทานจึงนำสองแนวคิดดังกล่าวมาผนวกเป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ เพราะรูปแบบการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมชลประทาน ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพลักษณะลุ่มน้ำและการเสริมอำนาจประชาชนในระดับพื้นที่ การสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการน้ำชลประทาน