ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม /เรียบเรียง/อลงกรณ์ รัตตะเวทินมทร.ธัญบุรี /ข้อมูล เปิดโครงการคุรุราชัน 'พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน' มทร.ธัญบุรีให้ครูและพสกนิกรร่วมสืบสานน้อมนำเป็นต้นแบบ(จบ) พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมิใช่เพียงแค่พระราชกรณียกิจเฉพาะความเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น  การที่พระองค์ทรงมีพระเกียรติยศขจรขจายเป็นที่เทิดทูนไปในนานาอารยประเทศ  เป็นเพราะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจความเป็นครูของมนุษยชาติด้วยการทรงงานที่เป็นนวัตกรรมสำหรับมนุษยชาติในฐานะพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินที่ไม่มีพรมแดนใดๆเข้ามาเป็นอุปสรรคขวางกั้นสิ่งที่เป็นวิทยาทานให้แก่มนุษยชาติได้นำไปพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวของโลกที่องค์การสหประชาชาติทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย (UNDPHuman  Development  Live  Time  Achievement  Award)  โดยนาย  โคฟี  อันนัน  เลขาธิการสหประชาชาติและนางแนน  อันนัน ภริยา  ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ  ในฐานะแขกของรัฐบาล  ในระหว่างวันที่  25-27  พฤษภาคม 2549  เพื่อทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ  แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9  เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรไทยมาโดยตลอดรัชสมัย รางวัลที่ทูลเกล้าฯถวายนั้นเป็นรางวัลเกียรติยศที่ริเริ่มขึ้นใหม่โดยสหประชาชาติเพื่อเทิดพระเกียรติเป็นกรณีพิเศษในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ  60  ปีซึ่ง พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ได้รับการถวายรางวัลเกียรติคุณนี้เป็นพระองค์แรกของโลก นายโคฟี  อันนัน  เลขาธิการสหประชาชาติ(ในขณะนั้น)ได้กล่าวสุนทรพจน์สดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชว่า  นับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่สำหรับองค์การสหประชาชาติที่ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล"ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์"  แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  สำหรับสหประชาชาติพิธีมอบรางวัลนี้มีความหมายสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำรางวัลเกียรติยศเพื่อมอบแก่บุคคลดีเด่นที่ได้อุทิศตนตลอดช่วงชีวิตและสร้างผลงานอันดีเป็นที่ประจักษ์ไม่มีสิ่งอื่นใดอีกแล้วที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการพัฒนาคนภายใต้แนวทางของพระองค์ นวัตกรรมที่ทรงศึกษาค้นคว้า  ทดลอง  พัฒนาจนกลายเป็นคุณูปการแก่มนุษยชาติ  ไม่ว่าจะเป็นกังหันชัยพัฒนา  ฝนหลวง  โครงการแก้มลิง  เกษตรทฤษฎีใหม่  หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯลฯ  นับเป็นผลงานของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นครูของศิษย์  ครูของครูและของมนุษยชาติต่อเนื่องตลอดจนถึงปัจจุบัน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันไพศาลต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติและของมนุษยชาติ  ในการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่  21  ธันวาคม  2553  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน"เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  7  รอบ  5  ธันวาคม  พุทธศักราช  2554  และเพื่อความเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พสกนิกรชาวไทยสืบไปตลอดกาลนาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรีด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาวิชาการ "คุรุราชันพระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน"ขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ที่ผ่านมามีม.ล.ปนัดดา ดิศกุลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา ณ ห้องประชุมสงค์ธนาพิทักษ์มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "คุรุราชัน-ต้นแบบการพัฒนาครู"แก่คณะครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักศึกษาและศิษย์เก่ากลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กว่า 500 คน เข้าร่วมสัมมนา โดยม.ล.ปนัดดากล่าวว่า การกำหนดทิศทางและแนวทางในการพัฒนาครูวิชาชีพ หรือครูอาชีวศึกษา เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศชาติที่ทุกคนได้ร่วมมือกันคิดหาแนวทางในการพัฒนาประเทศ กระทรวงศึกษาธิการในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลการจัดการศึกษาของชาติมีนโยบายสนับสนุนโครงการลักษณะนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะกิจกรรมที่กลุ่ม มทร. ร่วมกันจัดในครั้งนี้ที่เป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการศึกษา พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานาม 'พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน' โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ถวายภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 "พระองค์ท่านยังมีพระอัจฉริยภาพด้านงานช่าง วิศวกรรมศาสตร์และวิชาชีพต่างๆ ดังที่ปรากฏมาโดยตลอด ฉะนั้นถ้ากลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อัญเชิญแนวพระราชดำริ พระบรมราโชวาทรวมถึงพระอัจฉริยภาพมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาครูวิชาชีพหรือครูอาชีวศึกษา ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง และขอสนับสนุนแนวทางนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักศึกษาและพสกนิกรน้อมนำเป็นต้นแบบในการทำงานและการดำเนินชีวิตต่อไป"ม.ล.ปนัดดากล่าว ด้าน รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมทร.ธัญบุรี กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระอัจฉริยภาพอันเกิดจากพระเมตตาพระราชหฤทัยห่วงใยด้านการศึกษา ทรงให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตลอดจนยังทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านช่างต่างๆอีกหลากหลายด้านอันกล่าวได้ว่าทรงเป็นต้นแบบแห่งความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่สายช่างเพราะทรงเอาพระทัยใส่ฝึกฝนด้วยพระวิริยะด้วยเพราะทรงอดทนเป็นที่ประจักษ์แก่ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นำมาซึ่งความปลื้มปีติของพสกนิกรเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ เฉพาะอย่างยิ่งความเป็นสิริมงคลแก่ชาวสายวิชาชีพทั้งหลาย ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่พสกนิกรชาวไทยและต่างชาติในหลากหลายโอกาส ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทยทั้งที่ทรงแก้ปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ทำกิน ด้านอาชีพที่อยู่อาศัยที่เกิดแก่ราษฎรโดยตรงและที่ทรงวางรากฐานแห่งผลสัมฤทธิ์จากการที่ทรงศึกษาค้นคว้าจนมีผลสำเร็จเป็นต้นแบบเป็นหลักการดำเนินชีวิตคือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ราษฎรได้ศึกษาเรียนรู้น้อมนำไปปรับประยุกต์ใช้แล้วเกิดผลสำเร็จได้จริงๆในเวลาเดียวกันก็กล่าวได้ว่าทรงแนะทรงสอนราษฎรของพระองค์ไปพร้อมๆกันอันเป็นที่ประจักษ์ จึงทรงได้รับพระราชสมัญญานามพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน "มทร.ธัญบุรี ในฐานะที่เป็นสถาบันผลิตครูอาชีวศึกษามานานกว่า 2 ทศวรรษ ได้รับมอบหมายจากสภามทร. ทั้ง 9 แห่ง ให้เป็นเจ้าภาพหลักรับผิดชอบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูวิชาชีพ โดยที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูวิชาชีพมทร. ทั้ง 7 แห่ง มีมติให้มทร.ธัญบุรีเป็นเจ้าภาพในการจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และให้เป็นเวทีเสวนาของผู้ที่มีบทบาทระดับชาติในการกำหนดทิศทางการผลิตและพัฒนาครูวิชาชีพให้ตอบสนองต่อการพัฒนากำลังคนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งทิศทางเหล่านี้จะใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาครูวิชาชีพของมทร. ทั้ง 9 แห่งต่อไป" รศ.ดร.ประเสริฐกล่าว ดร.วิสิทธิ์ ล้อธรรมจักร ผู้ช่วยอธิการบดีมทร.ธัญบุรี ในฐานะผู้รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาครูวิชาชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่าภายในงานที่จัดขึ้นในวันดังกล่าวยังมีการเสวนาเรื่อง ทิศทางการพัฒนาครูวิชาชีพเพื่อตอบสนองการพัฒนากำลังแรงงานไทย โดย รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ดร.อธิปไตย โพแตง นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ พร้อมด้วย ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ไทย ออโต้ ทูลส์แอนด์ดาย จำกัด และ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี และยังจัดแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจด้านพระปรีชาสามารถด้านงานช่าง อาทิ กังหันน้ำชัยพัฒนา พลังงานทดแทนไบโอดีเซล การสื่อสาร เกษตรกรรม ฝนหลวง ภาพถ่าย และพระปรีชาด้านดนตรี เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษา และผู้เข้าร่วมโครงการได้น้อมนำเป็นต้นแบบและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช