กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เชิญผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ SME ด้านสมุนไพร เครื่องสำอาง ยาแผนไทย และยาแผนปัจจุบัน มาประชุมเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายเมืองไทย 4.0 นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เชิญผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ประชุมหารือเพื่อร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนงานด้านสมุนไพร เครื่องสำอาง ยาแผนไทย และยาแผนปัจจุบันให้ได้มาตรฐาน เพื่อจะได้ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในเรื่องต่างๆ โดยมี การจัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia) เพิ่มชนิดและรายการมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนยา และการส่งออกต่างประเทศ โดยจะย่นระยะเวลาในการจัดทำ และครอบคลุมมากชนิดขึ้น รวมทั้งจะได้ลำดับความสำคัญของชนิดสมุนไพรที่สามารถพัฒนาเพื่อการส่งออก การบริหารจัดการสารมาตรฐาน สารเคมี ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการตรวจวิเคราะห์เวลาส่งสินค้าไปต่างประเทศ แต่หาซื้อยาก และสารมาตรฐานบางชนิดก็ไม่มีจำหน่าย ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นศูนย์กลางสนับสนุนสารมาตรฐานให้ผู้ประกอบการ การฝึกอบรม ให้ความรู้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมคุณภาพการผลิตสมุนไพร เครื่องสำอาง ยาแผนไทย และยาแผนปัจจุบัน การให้บริการวิจัยทางห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบความคงตัว การวิจัยทางคลินิก การศึกษาพิษวิทยา โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะจัดให้บริการแบบเหมาจ่าย (package) ครอบคลุมหลายตัวอย่าง การพัฒนาชุดทดสอบ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ได้เองในเบื้องต้น การจัดทำฐานข้อมูลวิจัยที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการได้ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพร ชนิดที่หายาก ขาดแคลน และเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้ได้วัตถุดิบเพียงพอ เพิ่มโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์ ซึ่งเรื่องนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีสวนสมุนไพร 3 แห่งสำหรับการเพาะกล้าพันธุ์ และส่งให้ภาคเอกชนนำไปปลูกต่อได้ เพิ่มช่องทางการประสานงานกับภาคเอกชนเพื่อให้สามารถติดต่อกันได้สะดวกรวดเร็วขึ้น นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกรม ได้แก่ สถาบันวิจัยสมุนไพร สำนักยาและวัตถุเสพติด สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ศึกษาแนวทางในเรื่องดังกล่าว และให้เร่งดำเนินการในส่วนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีองค์ความรู้อยู่แล้ว โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในการประสานข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันทั้งภายในและต่างประเทศได้ ซึ่งการให้การสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการสร้างงานในประเทศ และสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศ ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยกลยุทธ์เสริมสร้างศักยภาพให้องค์กรในการยกระดับองค์ความรู้ งานวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และของประเทศ