เสริมบทเรียนถ่ายทอดสู่ผู้เรียนแบบแอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเน้นย้ำให้ภาคการศึกษาและทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ รัฐบาลจึงน้อมนำแนวพระราชดำริมากำหนดเป็นนโยบายด้านการศึกษาเพื่อสืบสานพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นับตั้งแต่เสด็จครองราชสมบัติ ตราบจนเสด็จสวรรคต จนมาถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จึงสืบสานเดินตามรอยพระยุคลบาท ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้จัดโครงการอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทยและบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทย เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษา อาชีวศึกษา ทั้ง ผอ.และรองผอ.สถานศึกษา มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและเกิดความตระหนักรู้คุณค่า รวมถึงความสำคัญในประวัติศาสตร์การสร้างชาติของพระมหากษัตริย์ไทย โดยจัดอบรมใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ จากนั้นจะมีการอบรมครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์และครู อาจารย์ รวมถึงบุคลากรในสถานศึกษาทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาต่อไป รองเลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า การจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์นั้น สอศ.มองว่าจะต้องมีการปรับรูปแบบและวิธีการโดยจะพัฒนาครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียนได้อย่างถูกต้อง และให้เกิดการเรียนที่ไม่น่าเบื่อ เป็นการเรียนแบบแอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง ที่สำคัญนักเรียนนักศึกษา จะต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ โดยไม่ใช่การท่องจำแต่อยากให้เรียนแล้วมีวิธีการคิด การตัดสินใจ อย่างเป็นระบบและอยากให้รู้ว่าคนในอดีตคิดอย่างไรจึงทำให้ประเทศชาติดำรงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ โดยมีความรัก เสียสละ สามัคคี ซึ่งถ้านักเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการเหล่านั้นได้ก็จะเห็นถึงความรัก ความสามัคคี ความปรองดอง และความเสียสละของบรรพบุรุษ ซึ่งตนเชื่อว่าเขาจะสามารถนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างมีความสุข "สิ่งสำคัญคือเราได้มีการพัฒนาตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น มีพระราชกรณียกิจ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่จะนำมาเสริมในบทเรียนเพิ่มขึ้น และขณะนี้ สอศ.ได้เริ่มพัฒนาครูเพื่อให้มีความทันสมัยทันเหตุการณ์และตรงกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันที่สุด เพื่อนำไปใช้สอนในภาคเรียนต่อๆไป โดยสิ่งที่ต้องการให้ครูมีคือกลยุทธ์ ว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนนักศึกษาเรียนแล้วเกิดความสำนึกในความเป็นคนไทย และรักชาติไทย" รองเลขาธิการ กอศ.กล่าว --------------