ทศพิธราชธรรมของ “พระธรรมราชา” (1) อัศศิริ ธรรมโชติ/เรื่อง วารสารวัฒนธรรม หนึ่งในทศพิธราชธรรมที่ประจักษ์ชัดที่สุดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็คือข้อที่เรียกกันว่า มีทวะ หมายถึงความอ่อนโยนและอ่อนน้อมถ่อมตน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทได้กล่าวถึงเรื่องความอ่อนโยนกับความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า เป็นเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงกำชับและทรงสั่งสอนอยู่เสมอถึงแม้ว่าพระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศที่อยู่สูงสุด แต่เวลาเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรนั้นจะเห็นความอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ตลอดเวลา เช่น ทรงรับสั่งกับประชาชนและเจ้าหน้าที่ด้วยความเตตา ทรงคุกเข่าหรือทรงนั่งประทับพับเพียบอยู่กับพื้น และทรงสนทนากับประชาชนโดยไม่ถือพระองค์แม้แต่น้อย ดร.สุเมธเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติพระองค์ให้พวกเราเห็นอยู่ตลอดเวลาที่มีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรนับเป็นชั่วโมง ๆ อย่างใกล้ชิดและทรงถือขนบธรรมเนียมไทยที่จะไม่ยืนค้ำผู้เฒ่าผู้แก่ โดยประทับลงรับสั่งกับราษฎร แม้ว่าเป็นตอนเที่ยงที่แดดร้อนเปรี้ยงอยู่ก็ตาม ตามคำบอกเล่าของผู้ที่ได้ถวายงานใกล้ชิดกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มักทรงรับสั่งเป็นการเฉพาะไม่ให้มีการกีดกันในเวลาที่ราษฎรเข้าเฝ้าฯ จึงได้ทรงไต่ถามทุกข์สุขและรวมทั้งการทำมาหากินของราษฎรได้อย่างใกล้ชิด ทศพิธราชธรรมในข้อที่เรียกว่า มัทวะ หรือความสุภาพอ่อนโยนจะหาไหนเท่าพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ไม่ได้แล้ว ดังจะเห็นได้จากภาพประวัติศาสตร์ที่ทรงโน้มพระองค์ไปรับดอกบัวกับหญิงชราคนหนึ่งที่จังหวัดนครพนมเมื่อกว่า 60 ปีก่อน ภาพนี้นับเป็นภาพที่ประจักษ์กันทั่วไปในพระราชจริยวัตรที่อ่อนโยนมีเมตตาและมีไมตรียิ่งต่อเหล่าพสกนิกร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมตลอดมาอย่างแท้จริง คำว่า ทศพิธราชธรรม หมายถึง ธรรม 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์เป็นคุณธรรมของพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองบ้านเมืองมี 10 อย่าง คือ ทาน ศีล บริจาค อาชวะ มัทวะ ตบะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ อวิโรธนะ นักปราชญ์ว่าตามปกติพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น แม้ว่าจะอยู่เหนือกฎหมายแต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในกรอบแห่งราชธรรมทั้ง 10 ประการนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็น “พระธรรมราชา” ตามหลักพุทธศาสนา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวถึงความเป็นมาของทศพิธราชธรรมหรือว่าหลักธรรม 10 ประการนี้ว่ามาจากตำราธรรมศาสตร์ ที่อาศัยหลักธรรมจากศาสนาพุทธในการกำหนดอำนาจ และการปฏิบัติตนของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีมานานแล้วแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงแม้ว่าในสมัยอยุธยาจะรับเอาลัทธิเทวราชมาจากเขมรที่ว่าพระมหากษัตริย์คือ เทพเจ้าองค์หนึ่ง แต่ก็ต้องทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ใต้กฎหมายของธรรมศาสตร์นี้ทั้งที่เป็นเทวราช นั่นก็คือหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ต้องถือเอาความสุขของราษฎรเป็นใหญ่เหนือสิ่งใดทั้งสิ้น “พระธรรมราชา” ในคติของศาสนาพุทธตามที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวถึงไว้ก็คือ พระราชาหรือพระมหากษัตริย์ต้องถือเอาความสุขของราษฎรเป็นใหญ่ และต้องทรงปฏิบัติธรรม ปฏิบัติพระองค็ถูกต้องตามธรรมทั้งปวงให้เป็นตัวอย่าง ตลอดจนต้องทรงชักนำให้ผู้อื่นอยู่ในธรรมนั้นด้วย พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ในธรรมด้วยพระองค์เอง จะต้องเป็นผู้รักษาธรรม แล้วเป็นผู้สอนธรรมให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งจะต้องเป็นผู้รักษาธรรมให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งจะต้องใช้พระราชอำนาจนั้นปกป้องผู้ประพฤติธรรม ส่วนพระราชอำนาจอันล้นพ้นที่มีอยู่กถูกจำกัดอยู่ด้วยธรรมนั่นเอง ม.ร.ว คึกฤทธิ์ บอกว่า หลักธรรมศาสตร์ทำให้พระมหากษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดินไทยไม่หลุดไปจากราษฎรคือ ไม่อยู่ห่างไกลราษฎร แต่อยู่ในฐานะใกล้ชิดและรู้ทุกข์สุขของราษฎรเป็นสำคัญอยู่เสมอ ทศพิธราชธรรมก็คือรายละเอียดที่ปรากฎอยู่ในพระธรรมศาสตร์ที่หมายถึงธรรม 10 ข้อที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงปฏิบัติ ทศพิธราชธรรมตามที่ได้มีการอธิบายกันไว้สรุปได้ดังนี้ 1.ทาน หมายถึง การให้ การแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อ ทั้งทางกายและใจ ตลอดจนถึงการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เสียสละ สงเคราะห์ อนุเคราะห์ประชาราษฎรทั่วไป 2.ศีล หมายถึง ความประพฤติดีงาม เป็นสุจริตธรรม มีความสงบร่มเย็น สำรวมกาย วาจาใจ จนเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ 3.การบริจาคหรือปริจาคะ หมายถึง การเสียสละความสุข ความสำราญส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ราษฎร หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง 4.อาชวะ หมายถึง ความชื่อตรง ความมุ่งมั่นตั้งใจจริง 5.มัทวะ หมายถึง ความอ่อนโยน ความสุภาพ และความมีอัธยาศัยนุ่มนวล ไม่ถือตัว ตลอดจนหมายถึง ความสง่างาม และท่วงทีอันเป็นทั้งที่รักและยำเกรง 6.ตบะ หมายถึง ความเพียร การข่มใจ และความทรงเดชอันเป็นที่มาของพระบรมเดชานุภาพ 7.อักโกธะ หมายถึง ความไม่โกรธ ไม่ลุแก่อำนาจ หรือว่า มีความเมตตาเป็นธรรมประจำใจอยู่เสมอ 8.อวิหิงสา หมายถึง ความไม่เบียดเบียนกดขี่ ไม่หลงระเริงในอำนาจขาดความกรุณา 9.ขันติ หมายถึง ความอดทน อดกลั้น ทนต่อการงานที่ตรากตรำไม่ท้อถอย ไม่ยอมหมดกำลังใจ และไม่ละทิ้งการงานที่เป็นการบำเพ็ญโดยชอบธรรม 10.อวิโรธนะ หมายถึง การยึดมั่นในธรรม สรุปหมายถึงการยึดเอาเที่ยงธรรม ความถูกต้องเป็นที่ตั้ง เป็นต้น ทั้ง 10 ข้อนี้จะเห็นว่าไม่มีข้อใดเลยที่จะไม่ปรากฏอยู่ในพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะรัชกาลอันยาวนานนับ 70 ปี (อ่านต่อ)