ครม.มีมติเห็นชอบเพิ่มเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชน อีก 780 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป วันที่ 9 พ.ค.60 ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเพิ่มเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยการอุดหนุนตามรายหัวนักเรียนในโรงเรียน อีก 780 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนจ่ายเงินเดือนครูเฉลี่ยคนละประมาณ 17,300 บาท ในจำนวนนี้รัฐบาลอุดหนุนหัวละประมาณ 14,300 บาท ทำให้เอกชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเงินเดือนส่วนต่างประมาณ 3,000 บาทต่อคน ทำให้ทางโรงเรียนต้องนำเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนมาใช้เพื่อเป็นเงินเดือนครู เพราะหากไปขึ้นค่าธรรมเนียมการสอน ก็จะกระทบกับผู้ปกครอง ดังนั้นการที่รัฐบาลอุดหนุนเงินในส่วนนี้ ก็จะทำให้โรงเรียนสามารถมีเงินไปพัฒนาการเรียนการสอน และไม่เป็นภาระต่อผู้ปกครอง "ศธ. ได้เสนอขอเพิ่มในส่วนของเงินเดือนครูไป ยังครม. เท่าที่โรงเรียนเอกชนจ่ายเงินเดือนครูจริง โดยใช้งบฯเพิ่มประมาณ 3,137 ล้านบาทต่อปี แต่ครม.ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้อุดหนุนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่อุดหนุนอยู่เดือนละประมาณ 14,300 บาท เป็นอุดหนุน 15,050 บาท เท่าอัตราเงินเดือนบรรจุข้าราชการที่จบปริญญาตรีหรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 750 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งจะทำให้โรงเรียนจ่ายส่วนต่างลดลง ทั้งนี้ ปัจจุบันเอกชนมาช่วยรัฐจัดการศึกษาสายสามัญศึกษา ให้แก่นักเรียน 2,062,850 คน ใน 3,604 โรงเรียน คิดเป็น 21.60% ของจำนวนนักเรียนทั้งประเทศ และหากจำแนกเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวนักเรียน จะพบว่ารัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนในส่วนของนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลหัวละประมาณ 39,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่นักเรียนโรงเรียนเอกชน รัฐจ่ายหัวละประมาณ 15,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเหตุผลที่ต้องอุดหนุนนักเรียนโรงเรียนรัฐมากกว่า เพราะเงินเดือนครูของรัฐบาลสูงกว่า" ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า สำหรับการเพิ่มเงินอุดหนุนในส่วนอื่น ๆ ที่ ศธ.เสนอขออนุมัติจาก ครม. อาทิ เงินสบทบค่าธรรมเนียมโรงเรียนการกุศล, เพิ่มปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน และช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งใช้งบประมาณเพิ่ม 4,170.32 ล้านบาทต่อปี นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง