ทศพิธราชธรรมของ “พระธรรมราชา” (จบ) อัศศิริ ธรรมโชติ/เรื่อง วารสารวัฒนธรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ทรงตั้งพระราชปณิธานปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นับแต่บัดนั้นก็ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยึดมั่นอยู่ในธรรมเป็นอย่างยิ่ง ทรงใช้ธรรมทางศาสนาเป็นอำนาจและครองในราษฎร ผู้ซึ่งเป็นพสกนิกรของพระองค์มาตลอดพระชนม์ชีพ คำว่า ทาน ในทศพิธราชธรรมอันเหมายถึง การให้ การแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อ ก็นับเป็นอีกข้อหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่มากมายอย่างสุดที่จะพรรณนาในองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทานแก่ราษฎรไม่เพียงแต่ด้านทรัพย์ วัตถุ สิ่งของ แต่ยังทรงให้ธรรม ทรงให้ปัญญาอันเป็นธรรมทานแก่ราษฎรทั้งปวงด้วยอย่างมากมายยิ่งกว่า อย่างเช่น พระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสตรัสสอนและทรงให้ข้อแนะนำทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งทรงคุณค่ายิ่งกว่าอาหาร เสื้อผ้า และวัตถุใด ๆ ดังพระราชดำรัสเรื่องเสรีภาพที่มีความตอนหนึ่งว่า “...การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบมิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้นจะทำให้มีความยุ่งยาก จะทำให้สังคมและชาติประเทศต้องแตกสลาย...” นี่นับว่าเป็นการให้ความเห็นที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฐิ และนับเป็นทานบารมีอันยิ่งใหญ่ในข้อของทศพิธราชธรรม หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มพระราชกรณียกิจด้วยการเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเยี่ยมราษฎรในพระราชอาณาเขตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ภาคกลางในปี พ.ศ.2496 ตลอดเรื่อยไปจนถึงปี พ.ศ.2502 ครบทั่วทุกภาคทั้งอีสาน เหนือ ใต้ ตะวันตก-ออก ทั้งด้วยขบวนรถยนต์ รถไฟพระที่นั่งและโดยที่มีราษฎรมาคอยเฝ้ารับสด็จอยู่อย่างเนืองแน่นไปในทุกแหล่งแห่งที่ ไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่ เมืองน้อย หรือว่าตามป่าเขาในท้องถิ่นทุรกันดารก็ตาม เมื่อได้ทรงแลเห็นถึงทุกข์สุขของราษฎรที่มาเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดด้วยความจงรักภักดี นี่จึงเป็นที่มาของพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงงานเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรทั้งปวง โครงการต่างๆ มากกว่า 4,000 โครงการได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถัดจากนั้นมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงสร้างความผูกพันระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องมาตลอดโดยไม่เคยหยุดชะงักและโดยมิยอมย่อท้อ โครงการต่าง ๆ มากมายเหล่านี้ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกเป็นอย่างไรโครงการหลวงหรือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือโครงการส่วนพระองค์ และไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านการสาธารณสุข การศึกษา การเกษตร ตลอดจนถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง และการจราจร อีกทั้งโครงการการสังคมสงเคราะห์ และมูลนิธอื่น ๆ นั้นเป็นที่รู้กันดีว่าแต่ละโครงการ แต่ละงาน ล้วนต้องมีขั้นตอน และมีรายละเอียดต่าง ๆ ในการดำเนินงานมาก ที่ยิ่งกว่าสิ่งใดจะต้องใช้เวลาความอดทนและรอบคอบ เพราะแต่ละโครงการจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นนานปีกว่าจะเห็นผล ทศพิธราชธรรมในข้อ ตบะ กับ ขันติ คือความเพียรกับความอดทนของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงต้องนับว่าสูงส่งมาก สอดคล้องกับความเพียรที่ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ดังความตอนหนึ่งว่า “ดูก่อนเทวดา เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลก และอานิสงส์แห่งความเพียร เพราะฉะนั้นถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นผู้สูงส่งด้วยวิริยะความเพียรจึงเป็นที่มาของพระบรมเดชานุภาพอันหาที่สุดไม่ได้ดังเป็นที่ประจักษ์อยู่ คำว่า ศีล ก็เป็นอีกข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงหมดจดงดงามและสูงส่งด้วยศีลยิ่งนัก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพุทธมามกะที่งดงามด้วยศีล และมีพระราชศรัทธาเป็นอย่างยิ่งดังเป็นที่ทราบว่าในระหว่างที่พระองค์ทรงผนวชและประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศในปี พ.ศ.2499 รวมเวลาทั้งสิ้น 15 วันนั้น พระภิกษุพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงศีลและทรงปฏิบัติพระราชภารกิจเช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าผู้ล่วงลับไปแล้วได้ทรงกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปรมิน ทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้ว่า ในขณะทรงผนวชทรงปฏิบัติพระองค์ยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมของพระพุทธศาสนา มีราชธรรม ทรงศึกษาพระพุทธศาสนา และทรงนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ในโอกาสต่าง ๆ และทรงบำรุงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นจำนวนมากมิได้ขาด เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตรากตรำทำงาน อุทิศทั้งพระวรกายและพระสติปัญญาเพื่อราษฎรโดยมิได้ว่างเว้น และไม่มีวันหยุดตลอดจนพระชนม์ชีพ ตรงตามหลักบริจาคหรือปริจาคะ การเสียสละ ทรงยึดถือความซื่อตรง คือ อาชวะกับอักโกธะ และอวิหิงสา คือทรงมีพระเมตตาและพระมหากรุณาต่อทั้งผู้คนและสัตว์นับตั้งแต่ช้างป่าลงมาจนถึงสุนัขจรจัดดังที่เห็น ส่วนอวิโรธนะหรือว่าการใช้หลักความเที่ยงธรรมนั้นเห็นได้จากที่ทรงแก้ปัญหาให้กับวิกฤตชาติในโมงยามที่มืดมนให้ลุล่วงไปด้วยดีดังเช่น เหตุการณ์วันมหาวิปโยค กับเหตุการณ์วันพฤษภาทมิฬ เป็นต้น จึงว่าไม่มีข้อไหนในทศพิธราชธรรมที่จะไม่ปรากฏอยู่ในพระราชจริยวัตร และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังที่ได้กล่าวมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 คือ พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระคุณอันประเสริฐ และเป็น “พระธรรมราชา” อย่างแท้เจริง