“เศรษฐกิจพอเพียงฯ ” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง มีความสุข มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ยึดองค์ความรู้ตามพระราชดำริใน 6 มิติที่สำคัญ คือ น้ำ ดิน เกษตร ป่า พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม องค์ความรู้ที่เป็นสากล องค์ความรู้ของครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นกรอบการทำงานโดยสร้างระบบพัฒนาแบบความต้องการในพื้นที่เป็นหลักมุ่งเน้นระดับชุมชน เปลี่ยนวิธีในการทำงานโดยการยึดถือความคิด ความต้องการศักยภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนมากขึ้น โดยน้อมนำหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตามพระราชดำริพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางปฏิบัติในทุกขั้นตอน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำเป็นเจ้าของ และการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคก่อให้เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาดิน ป่าไม้ และอาชีพของประชาชน และในพื้นที่จังหวัดน่านก็เป็นพื้นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากเป็นต้นน้ำน่าน หัวใจสำคัญของระบบน้ำในประเทศไทย พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ที่ทั้งภาคราชการและประชาชนร่วมมือกันให้เกิดความเข้มแข็งด้วยการยึดหลักตามแนวทางพระราชดำริ อย่างเช่น การร่วมกลุ่มของคนในชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ พาสื่อมวลลงพื้นที่จังหวัดน่าน เมื่อเร็ว ๆ นี้ไปติดตามผลการทำความเข้าใจให้ชาวบ้านได้น้อมนำแนวพระราชดำริเฉพาะอย่างยิ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน บ้านน้ำเกี๋ยน ชุมชนแห่งการเรียนรู้ เรียกกันว่า ชุมชนชีววิถีตำบลบ้านน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน จัดตั้งกลุ่มชาวบ้านรวมตัวเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนให้ดีขึ้น ด้วยการส่งเสริมการประกอบอาชีพเป็นวิสาหกิจชีววิถี นายชูศิลป์ สารวัฒนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน เล่าว่า ชุมชนที่นี่เป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ มีเพียง 5 หมู่บ้าน อาศัยกันอยู่ประมาณ 700 หลังคาเรือน หลักๆ ก็มีอาชีพทำเกษตรกรรม ทำนา ทำสวนยาง ปลูกข้าวโพค เป็นต้น การที่คนในชุมชนเกิดความเข้มแข็งขึ้นก็เพราะรู้จักรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีการจัดตั้งกลุ่มรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ในการพัฒนาชุมชนของพวกเรา เช่น การรวมกลุ่มของคนที่เกิดพ.ศ.เดียวกัน อยู่ด้วยกัน จะมีกฎกติกาดูแลซึ่งกันและกัน “ในชุมชนได้จัดตั้งศูนย์ชุมชนพิทักษ์ ชาวบ้านเขามาบริหารใครมีปัญหาขัดแย้งกันก็มาพูดคุยกันที่ศูนย์แห่งนี้ บ้านน้ำเกี๋ยนจะมีกฎระบียบที่พวกเราสร้างขึ้นและมีความคิดเห็นที่ตรงกันเรื่องการตั้งกฎระเบียบ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างดี เมื่อก่อนหมู่บ้านน้ำเกี๋ยน มีปัญหามากมายทั้งยาเสพย์ติดที่เข้ามาในหมู่เยาวชน มีการเล่นการพนัน ตัดไม้ทำลายป่า เรียกได้ว่า เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ทำให้ชาวบ้านไม่มีความสุขกัน การที่ชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน อยู่กันอย่างผาสุกกันได้ในวันนี้นั้น ก็เกิดจากความสำนึกและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจนต้องหันหน้าเข้าหากันรวมกลุ่มร่วมขจัดปัญหาเหล่านี้ออกจากชุมชนของพวกเราออกไปให้ได้ “ นายชูศิลป์ บอก “จึงเริ่มยุทธศาสตร์หลักคำว่า “บวร” 3 ประสานเพื่อประโยชน์เกิดแก่ทุกฝ่าย เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บ้าน คือ ชาวบ้าน วัด คือ พระสงฆ์ โรงเรียนและหน่วยราชการ ต้องดำเนินงานประสานให้เกิดประโยชน์รวมกันทุกฝ่าย ทางชุมชนจัดตั้ง 42 ขุนศึก คือการระดมความคิดของผู้นำเช่น แพทย์ กำนัน ผู้ใหญ่ นายกอบต. หรือเจ้าอาวาสวัด มีหน้าที่ช่วยกันคิดพัฒนาชุมชนให้มั่นคงและดีขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง และนำมาเสนอให้กับชาวบ้านได้รับทราบ มีการแสดงความคิดแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แบบประชาธิปไตย และได้นำหลักการดำเนินงานโดยใช้คำว่า กินอิ่ม คือเรื่องของเศรษฐกิจในชุมชนต้องพึ่งพาตนเองได้มีรายได้อย่าสม้ำเสมอ นอนอุ่น คือ เรื่องสุขภาพร่างกายต้องแข็งแรง ความเป็นอยู่ที่ดี และ คำว่า ฝันดี คือ ความปลอดภัยในทรัพย์สินของคนในชุมชนโดยหลัก การที่ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริมาประยุกต์ใช้การขับเคลื่อนชีววิถีแห่งนี้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น การรู้จักนำสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ในการทำอาชีพ รู้จักการปลูกพืชเสริมเช่น การปลูกพืชสมุนไพรนำมาขายจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลบ้านน้ำเกี๋ยน” เมื่อชาวบ้านมีรายได้เกิดความสุข เศรษฐกิจครัวเรือนเติบโต คือ การสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นผลิตสินค้าเพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยในชุมชน” นายชูศิลป์ ย้ำ ด้าน นางสาวศิรินันท์ สารมณฐ์ ผู้จัดการชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน เล่าเพิ่มเติมว่า ได้รับความรู้ลงมือทำได้เริ่มต้นจากการทำผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น แชมพูสระผม จุดประสงค์ก็เพื่อคิดว่านำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนเท่านั้นเพื่อลดรายจ่ายในครอบครัว โดยใช้สมุนไพรมาทำ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกบ้านเรือนปลูกสมุนไพรไว้ใช้และที่สุดก็ได้ขายอีกด้วย ทำให้มีรายได้เพิ่ม และจากมุมมองที่ว่า “ชีวิตที่ต้องซื้อทุกอย่าง แล้วจะลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร” ทำให้เกิดการก่อตั้งชุมชนแห่งการเรียนรู้เมื่อปี 2550 เรียกว่า วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลบ้านน้ำเกี๋ยน เริ่มจากการเก็บเงินจากสมาชิกเพียงแค่ 79 คน ๆ ละ 100 บาท มีเงินทุนอยู่เพียง 60,000 บาท เกิดการพัฒนาทุกด้านของชุมชนคือ เมื่อได้กำไรจากธุรกิจที่พวกเราร่วมมือ รวมแรง รวมใจกันทำ สิ่งที่ได้การขับเคลื่อนและการขยายพื้นที่ตั้งแต่สถานที่คนงานก็จากชาวบ้านเข้าทำเป็นการส่งเสริมอาชีพอีกทางหนึ่ง ให้มีรายได้ มีงานทำโดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานที่อื่น ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเป็น 680 คนมีเงินทุนเข้ามากว่า 3,500,000 บาท ตลลอดระยะ 10 ปีที่ชาวบ้านในชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยนมีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแพ่ซึ่งกันและกัน แบ่งปั่นกัน มีอาชีพและรายได้อย่างมั่นคงก็ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ปรับใช้เข้ากับสังคมในชุมชนของพวกเราได้อย่างเหมาะสม และเกิดผลที่ดีอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้โดยทุกคนปฏิบัติตนตามแนวทางพระราชดำรัสที่ว่า “...การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกินและมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง...” นางสาวศิรินันท์ บอกว่า โดยใช้หลักการที่สำคัญที่ว่า 1.พอมีพอกินปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองบ้างปลูกไม้ผลไว้หลังบ้าน 2-3 ต้น พอที่จะมีไว้กินเองในครัวเรือนเหลือจึงขายไป 2.พออยู่พอใช้ ทำให้บ้านน่าอยู่ ปราศจากสารเคมี กลิ่นเหม็น ใช้แต่ของที่เป็นธรรมชาติ (ใช้จุลินทรีย์ผสมน้ำถูพื้นบ้านจะสะอาดกว่าใช้น้ำยาสารเคมี) รายจ่ายลดลง สุขภาพจะดีขึ้น 3.พออกพอใจ เราต้องรู้จักพอ รู้จักประมาณตนไม่ใช่เห็นคนอื่นมีอยากมีบ้าง เพราะเราจะหลงติดกับวัตถุ ปัญญาจะไม่เกิด และการมีส่วนรวมของชาวบ้าน รวมกันคิดรวมกันทำ รวมกันแก้ไขปัญหา และอีกประการหนึ่งการมีภูมิคุ้มกันต่อตัวเอง คือ การรู้จักพึ่งพาตนเองก่อนที่จะไปให้คนอื่นช่วยเหลือ ถ้าพวกเราคิดจะรอการสนับสนุนจากคนอื่นอยู่คงเป็นไปไม่ได้การดำเนินงานของคนในชุมชนก็จะไม่เกิดผลสำเร็จ ก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สิ่งที่ต้องควบคู่ไปกับชุมชนคือ หลักธรรมภิบาล ความโปร่งใสในการบริหารงานของคณะกรรมการกับชาวบ้านต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน จึงทำให้วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลบ้านเกี๋ยน อยู่กันอย่างเรียบง่ายและมีความสุข “ปัจจุบันนี้ ผลิตภัณฑ์ของพวกเรามีคุณภาพและได้มาตราฐานGMP ก็ด้วยการพัฒนาของชาวบ้านเพราะทางวิสาหกิจชุมชนฯ จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ตลอดเวลาจัดให้มีการเรียนอบรมจากนักวิชาการผู้เชียวชาญต่าง ๆ มาสอนให้กับคนในชุมชน เมื่อชุมชนเราเข้มแข็ง ทุกคนก็ร่วมมือกันดูแลรักษาป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างมาก ชาวบ้านช่วยกันดูแลพื้นที่ของเราอุดมสมบูรณ์แหล่งน้ำ ป่าไม้ และตอนนี้ สมุนไพร ในชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยนก็มีกว่า 150 ชนิด เช่น ขมิ้น ไพร ตะไคร้หอม ดอกอัญชัน เชียงดาว มะกรูด เป็นต้น ทางวิสาหกิจฯ เป็นส่วนกลางที่ทั้งรับซื้อสมุนไพรจากชาวบ้าน มีการผลิตของตนเองเครื่องมือทันสมัย สินค้าที่ผลิตเป็น OTOP และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน ที่มีประชาชนเข้ามารับฟังการอบรมและนำความรู้ไปพัฒนาในครัวเรือนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ อาทิเช่น แชมพูสมุนไพรใบหมี่-อัญชัน-ขิง แชมพู-ครีมนวดสมุนไพรว่านหางจระเข้ เกลือขัดผิว โลชั่นน้ำมันงา ครีมน้ำนมข้าว ฯลฯ ช่องทางการตลาดสู่โมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ ภายใต้แบรนด์ “ชีวาร์” นางสาวศิรินันท์ กล่าว นายชูศิลป์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนมีความตั้งมั่นที่จะสืบสานปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 น้อมนำมาเป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของตนเอง แต่ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ให้เหมาะสมแต่ละบุคคลก็เกิดผลดีต่อผู้นั้นอย่างแน่นอน อย่างเช่น การพออยู่พอกิน ด้วยการนำของที่อยู่ใกล้ตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังไม่ประมาณ คำนึงถึงความยั่งยืน การทำความดีเพียงเล็กน้อยถือว่าช่วยสังคมได้ สำหรับผมการที่มาทำงานอยู่ตรงนี้เป็นการช่วยเหลือคนส่วนใหญ่คือ เพื่อนบ้านให้มีอาชีพ มีรายได้ และเป็นการช่วยส่งเสริมให้พวกเขารู้จักอยู่คู่กับธรรมชาติพึ่งพาซึ่งกันและกัน การทำความดีไม่จำเป็นต้องประกาศให้ใครรู้ สิ่งที่ทำอยู่เราเห็นว่ามีประโยชน์ก็คือชาวบ้านอยู่กันอย่างมีความสุข เท่านี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งช่วยให้เกิดความสุขสงบได้ในสังคม” ฤทัยรัตน์ เมืองกฤษณะ/รายงาน