นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้เตรียมวางแผนระดมสมองจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อพูดคุยหากรอบแนวคิด และกลยุทธ์แผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวออกมาเป็นนโยบายหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้การท่องเที่ยวทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง และนำไปสู่การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เวลานี้ทาง ททท.อยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟู โดยจะอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านท่องเที่ยวหาแนวทางช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว มีทั้งเรื่องการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ การซ่อมสร้าง การเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การปรับภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย ทั้งในเรื่องของการฟื้นฟูตลาดต่างประเทศ ทั้งระยะใกล้ ระยะไกล และสุดท้ายเป็นเรื่องของการรณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เนื่องจากในช่วงเดือน 2 เดือนที่ผ่านมา ธรรมชาติที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการเที่ยวอย่างรับผิดชอบมากขึ้น รวมถึงมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความสะอาดที่จะต้องพัฒนาขึ้นมารองรับกับ New Normal ที่เกิดขึ้นหลังจากโควิด-19 จบลง สำหรับแผนการทำงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการกำหนด กรอบ ทิศทาง ให้เป็นรูปแบบที่ชัดเจน โดยให้ผู้บริหารแต่ละฝ่ายของ ททท.นำไปทำแผนงาน โครงการ เพื่อที่จะนำไปปรับแผนการตลาดที่จะเปลี่ยนไปไปหลังจากนี้ ซึ่งน่าจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป โดยเฉพาะข้อมูลตัวเลขล่าสุดที่มาจากตลาดต่างประเทศมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 16 ล้านคน รายได้อยู่ที่ 7.4 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 68 ล้านคน/ครั้ง รายได้อยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้าน ลดลงมา 60% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า หลังจากโควิด-19 ผ่านไปแล้วมุมมองการท่องเที่ยวของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่จะถูกนำมาดำเนินการอย่างจริงจังในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดในช่วงวิกฤตที่ส่งผลให้ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมฟื้นตัวได้ดีขึ้น “การท่องเที่ยวที่มีกลุ่มคนเป็นจำนวนมากอาจจะได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่กังวลในเรื่องของความสะอาด ความมีมาตรฐานต่างๆ ที่ช่วยการันตีถึงความปลอดภัยในด้านสุขภาพเมื่อเข้าไปใช้บริการในสถานประกอบการ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น จะถูกนำมาพูดถึง และเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยือน และคงต้องใช้เวลากว่า 2-3 ปี ที่สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง”นายทวีพงษ์ กล่าว ดังนั้นแผนการทำงานที่จะนำเสนอทางกระทรวงฯ น่าจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคเอกชน จัดเป็นกิจกรรมอบรมนักสื่อความหมายท้องถิ่นให้แก่ชุมชน ใช้มัคคุเทศก์อาชีพเป็นวิทยากรให้ความรู้ เพื่อเป็นการยกระดับเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชน ขณะเดียวกันมัคคุเทศก์อาชีพก็จะมีรายได้และมีงานทำจากความชำนาญที่มีอยู่ และส่วนที่สอง จะเป็นการร่วมกับบริษัทนำเที่ยวมาช่วยพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชนและพื้นที่พิเศษของ อพท. เพื่อจะได้พัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น