นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนสมัยพิเศษ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เป็นการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนแนวทางและความร่วมมือ ของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยทางประเทศไทยได้เสนอการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษนี้ และได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นอย่างดี สำหรับ ประเทศไทย เวลานี้ให้ความสำคัญมากที่สุด ในเรื่องการเตรียมรับมือและควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งเน้นควบคุมการเดินทาง และการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศ โดยอาศัยมาตรการต่างๆ อย่างหลากหลาย รอบด้านอาทิ มาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ มาตรการปิดสถานที่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค มาตรการระยะห่างทางสังคมมาตรการส่งเสริมการปฏิบัติงานในที่พัก มาตรการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องด้วยความโปร่งใสทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่อาศัยกลไกการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนรวมมากกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องทั้งหลายดังกล่าว ได้ส่งผลต่อการควบคุม การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในประเทศไทยได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งล่าสุดประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันจำนวน 7 คน มีผู้เสียชีวิตสะสม 54 คน และรักษาหายแล้ว 2,652 คน รวมผู้ป่วยสะสม 2,938 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน 2563) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนมีประวัติการเดินทางมาจากต่างประเทศ หรือมีประวัติเคยเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวและชุมนุมเป็นจำนวนมาก และคาดหวังว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ และผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จะลดจำนวนลงเป็นศูนย์ ได้ภายในเร็ววันนี้ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอาเซียน ได้อย่างเป็นปกติสุขอีกครั้ง อีกทั้งนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการสำคัญต่าง ๆ เพื่อบรรเทา เยียวยา และฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งประกอบด้วยมาตรการการแก้ไขปัญหา 2 ระยะ รวม 5 ด้านหลัก โดย มาตรการการแก้ไขปัญหาในระยะแรก ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 2 ด้าน คือ 1.ด้านการเงินและการคลัง ได้แก่ การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 1 ปี การขยายเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีทุกประเภท การขยายเวลาการชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างออกไป และ การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เช่น การปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) การชดเชยรายได้ภาคแรงงานในสัดส่วนร้อยละ 62 ของค่าแรงที่ลูกจ้างเคยได้รับ 2.การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและความปลอดภัยด้านสุขลักษณะอนามัย เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว และยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย และการมีสุขอนามัยที่ดีของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้มีการดำเนินมาตรการ ในระยะแรกทั้ง ๒ ด้านดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนสมัยพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล ส่วน มาตรการการแก้ไขปัญหาในระยะถัดไป ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการเตรียมความพร้อม และจะสามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้ลดความรุนแรงลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้เตรียมมาตรการ เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ไว้ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การเสริมสร้างและการรักษาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวผ่านโครงการ Thailand Tourism Brands โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises หรือ MSME) ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีการจ้างงานจำนวนมาก การพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการท่องเที่ยว มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะบุคลากรท่องเที่ยว ตั้งแต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้ และพัฒนาการบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน และ การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว ภายใต้นโยบายเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นธรรม (Fairness) ให้แก่ทุกฝ่าย ขณะที่ข้อ 2. จะเป็นการสร้างรายได้แก่สถานประกอบการท่องเที่ยว และ การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว มุ่งสนับสนุนและส่งเสริม ให้มีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นธรรม (Fairness) ให้แก่ทุกฝ่าย 3.การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มุ่งสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่คนไทยและนักท่องเที่ยวผ่านข้อความเดียว (Single Message) การเฝ้าระวังให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดยยกระดับภารกิจของศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ ยังกล่าวต่อว่า ในที่ประชุมยังได้รับรองถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียน (Joint Statement of the ASEAN Tourism Ministers on Strengthening Cooperation to Revitalise ASEAN Tourism) โดยมีความตกลงร่วมกัน ดังนี้ 1.สนับสนุนการประสานงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งรัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข และมาตรการจำเป็นอื่น ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านการดำเนินงานของทีมสื่อสารในภาวะวิกฤติการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Crisis Communication Team : ATCCT) อีกทั้ง 2.กระชับความร่วมมือระหว่างองค์กรการท่องเที่ยวแห่งชาติ ของประเทศสมาชิกอาเซียน (National Tourism Organisations) กับหน่วยงานอาเซียนอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหุ้นส่วนภายนอกอาเซียน โดยเฉพาะด้านการสาธารณสุข ข้อมูลข่าวสาร การคมนาคมขนส่ง และการเข้าเมือง 3. ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาอาเซียน ในการตอบสนองภาวะวิกฤติ ความพร้อมทางด้านการสื่อสาร การประสานความร่วมมือ การบรรเทาสาธารณภัยระดับประเทศ และมาตรการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนการเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและจัดการกับโรคระบาด หรือภัยคุกคามร้ายแรงอื่นได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต 4.ดำเนินนโยบายและมาตรการที่มีความชัดเจนเพื่อเพิ่มความมั่นใจของทั้งนักท่องเที่ยวภายในอาเซียนและนักท่องเที่ยวนานาชาติที่เดินทางมายังอาเซียน รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานและชุมชนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศสมาชิกอาเซียน สำหรับข้อ 5.สนับสนุนการพัฒนาแผนฟื้นฟูภายหลังวิกฤติโควิด-19 และการนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติ อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอาเซียน การร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมความมั่นใจของทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว รวมทั้งการตลาดและการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มุ่งเป้าให้อาเซียนเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวร่วม ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 6.ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาคเพิ่มมากขึ้น โดยให้การสนับสนุนแก่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ การสนับสนุนทั้งทางเทคนิคและการเงิน การบรรเทาภาษี การยกระดับขีดความสามารถโดยเฉพาะทักษะดิจิทัล 7.แสวงหาความร่วมมือกับคู่เจรจาอาเซียน องค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อเตรียมการให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพร้อมต่อการจัดการการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน