ครูดี...โรงเรียนเด่น / [email protected] สพฐ.เปิดห้องเรียนดนตรี 3 รร.ชายแดนใต้ นำร่อง ม.1 และ ม.4 ระดับชั้นละ 1 ห้องเรียน พร้อมจัดงบฯ ซื้อคุรุภัณฑ์+จ้างครูสายดนตรี เปิดเทอมนี้ได้เรียน ปูทางเส้นทางอุดมศึกษาในอนาคต เมื่อเร็วๆ นี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงโครงการห้องเรียนดนตรีและการจัดกิจกรรมนำเสนอผลงานของนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ ด้านทัศนศิลป์ ด้านดนตรี และนาฏศิลป์ ว่าตามที่รัฐบาลได้ให้การส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษในหลายรูปแบบ ตามความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน และด้วยสภาวะการในภาคใต้ ยังคงมีความรุนแรงอยู่ในบางพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลถึงสภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้คน และควรได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟู ให้มีความเข้มแข็งทั้งด้านร่างกายจิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา โดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พิจารณาแล้วว่า ศิลปะและดนตรี เป็นวิชาที่จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจ สามารถสร้างคนให้เป็นคนดีมีจิตใจอ่อนโยน และเป็นสื่อในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม ขณะที่โรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายโรงเรียนก็ให้การสนับสนุนนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างทัดเทียมกับนักเรียนในภูมิภาคอื่นๆ “ศธ.จึงส่งเสริมให้นักเรียนเหล่านี้มีโอกาสได้รับการศึกษาตามความสนใจและความถนัด ส่งต่อให้เรื่องรับการศึกษาด้านดนตรีในระดับอุดมศึกษา รวมสั่งสร้างแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคต โดยได้คัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อม และอนุมัติให้เป็นห้องเรียนดนตรีจำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ รร.เบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี รร.คณะราษฎร์บำรุง จ.ยะลา และ รร.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้ดำเนินการห้องเรียนดนตรีสำหรับโรงเรียน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้วางแผนการดำเนินการระยะแรก เพื่อให้โรงเรียนทั้ง 3 แห่ง สามารถจัดการเรียนการสอน ได้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 และเปิดห้องเรียนดนตรีในระดับชั้น ม.1 จำนวน1 ห้อง แผนการเรียนวิทย์-ดนตรี และชั้น ม.4 จำนวน 1 ห้อง แผนการเรียนศิลป์-ดนตรี ...โดย รร.เบญจมราชูทิศ สามารถรับนักเรียน ม.1ได้ 37 คน ม.4รับได้ 13 คน, รร.คณะราษฎร์บำรุง ม.1รับได้ 41คน และ ม.4 รับได้ 20 คน รร.สุไหงโกลก ม.1 รับได้ 19คน ม.4 รับได้15 คน ทั้งนี้ พบว่าโรงเรียนอย่างมีความต้องการอัตรากำลังเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอน และพัฒนาทักษะด้านดนตรีของนักเรียน ซึ่งในระยะแรกควรมีครูอัตราจ้างไม่เกิน 5 คน ทำหน้าที่การสอนในรายวิชาดนตรีตามหลักสูตร และสอนดนตรีตามกลุ่มเครื่องดนตรีของวงโยธวาทิต เช่น กลุ่มเครื่องลมไม้ เครื่องลมทองเหลือง และ เครื่องจังหวะ อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าครุภัณฑ์ดนตรีให้โรงเรียนทั้ง 3 แห่ง โดยจะพิจารณาจัดซื้อเครื่องดนตรีในวงโยธวาทิตเป็นหลัก พร้อมทั้งให้การสนับสนุน อัตรากำลังเพิ่มเติม อีกทั้งยังได้วางแผนสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่เปิดสอนสาขาดนตรี โดยจะพัฒนาสู่การทำข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อส่งนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป