ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ทำชุมชนบ้านยอด อ.สองแคว หลุดหนี้ “...ทฤษฎีใหม่เป็นวิธีปฏิบัติการเกษตรอีกแนวทางหนึ่งที่คิดค้นขึ้นสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนน้อย หรือแปลงขนาดเล็ก ๆ มีหลักสำคัญอยู่ว่า แต่ละแปลงจะแบ่งออกเป็นส่วนๆ สมมติว่าแปลงหนึ่งมี 15 ไร่ จะปลูกข้าว 5 ไร่ ปลูกไม้ผล พืชไร่ หรือพืขผักสวนครัว 5 ไร่ ขุดสระน้ำ 3 ไร่ ปลูกที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ อีก 2 ไร่ วิธีนี้ได้ทดลองปฏิบัติขั้นแรกมานานพอสมควร และได้ผลดีที่น่าพอใจระดับหนึ่ง คือเกษตรกรมีข้าวบริโภคเพียงพอตลอดปี และมีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ ต่อไปหากจะให้ได้ผลดียิ่ง สมบูรณ์ขึ้น ในขั้นที่สองก็จะต้องรวมกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ด้วยความร่วมมือของหน่วยราชการ มูลนิธิและเอกชนเพื่อช่วยเหลือในด้านการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ต่างๆ และในขั้นที่สามจะต้องร่วมมือกับสถาบันการเงินและการพลังงานเพื่อช่วยเหลือด้านการจัดตั้งและบริหารโรงสี ร้านสหกรณ์ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุน...” พระราชดำรัสเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 ในงานพระราชทานปริญญาบัตรสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ออกจากบ้านน้ำเกี๋ยน มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ นำไปต่อที่ชุมชนบ้านยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเป็นชุมชนเข้มแข็งชาวบ้านรวมตัวกันตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจนพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วยการที่น้อมนำวิธีการเรียนรู้การทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ อันเนื่องมากจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทยนำไปประยุกต์เกิดผลต่อที่ทำกินของตนเอง ให้มีรายได้เลี้ยงตนเองอย่างยั่งยืน นายเจริญ คนตรง เหรัญญิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด ตั้งอยู่ที่ 123 ตำบลบ้านยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน เล่าว่า ที่ทำกินของคนในหมู่บ้านในอดีตส่วนมากจะปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือ ข้าวโพค ตลอดทั้งปี มีทำนาเพียงบางครัวเรือนเท่านั้น ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยดีนักเพราะที่นี่ขาดแหล่งน้ำ แห้งแล้ง ทำให้คนในชุมชนบ้านยอดเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้น จากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว และไม่มีความเข้าใจเรื่องของการดูแลดินและแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เข้ามาแนะนำให้ได้มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านขึ้นเกิดความสามัคคีกันที่จะช่วยกันดูแลรักษาที่ทำมาหากินนำหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริเข้ามาให้ปรับใช้และฟื่นฟูป่าไม้ พัฒนาแหล่งน้ำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ด้านชีวภาพ การพัฒนาด้านการเกษตรกรรมของแต่ละครัวเรือนดีขึ้น ทางชาวบ้านในชุมชนบ้านยอดได้รับการสนับสนุนดูแลจากมูลนิธแม่ฟ้าหลวงในเรื่องการฟื้นฟูป่าไม้ให้กับมาอุดมสมบูรณ์ และได้รับการสนับสนุนจากทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ช่วยดูแลพื้นที่ทำกิน โดยเฉพาะด้านระบบน้ำ “เมื่อมีการพัฒนาการดำเนินชีวิตอาชีพที่ถูกต้องมาในหมู่บ้านเริ่มดีขึ้น ชาวบ้านมีความรู้ด้านเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริในพื้นที่แต่ละครัวเรือนใช้วิธีเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ามาปรับปรุงเป็นแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลากหลายชนิดในที่ดินของตนเอง เช่น ปลูกมะนาว ปลูกผักสวนครัว มีเลี้ยงสัตว์ ขุดบ่อเลี้ยงปลาและมีน้ำเก็บกักไว้ใช้เวลาหน้าแล้ง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเรื่อย ๆ หมดหนี้สิน ลืมตาอ้าปากได้ เพราะการที่พวกเราร่วมแรงร่วมใจกันดูแลรักษาพื้นป่าไม้แหล่งน้ำและที่ทำกิน มีการรวมกลุ่มตั้งศูนย์วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด สมาชิกมารวมตัวกันช่วยกันคัดกรองลูกมะนาว ช่วยกันแพ็คใส่ถุงนำไปจำหน่ายทางห้างแม็คโครที่มารับซื้อถึงที่หมู่บ้าน ทำให้เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนกว่า 5 ล้านบาทใน 1 ปี มีสมาชิก 93 ราย เงินทุน 52,400 บาท มีการบริหารจัดการด้วยการรับซื้อมะนาวไร้เมล็ดพันธุ์ตาฮิติจากชาวบ้านแบบเงินสด กิโลกรัมละ 20 บาท โดยกู้เงินจากกองทุนปลูกป่าของชุมชน” นายเจริญ บอก นางสาววารุณี มีสุข หัวหน้าภาคสนามมูลนิธปิดทองหลังพระฯ เปิดเผยว่า เข้าไปมีส่วนร่วมได้เริ่มดำเนินการแก้ไขพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญมีการจัดสรรในเรื่องน้ำก่อนเป็นอันดับแรกในลุ่มน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งพื้นที่ต้นแบบในอำเภอสองแควคือ บ้านยอด บ้านผาหลัง บ้านบางน้ำเกาะ โดยเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่บ้านยอดก่อนเมื่อปี 2552 บ้านยอดเป็นพื้นที่ต้นน้ำก็จริงแต่สภาพภูมิประเทศเป็นน้ำมุดลงไปใต้ดินไหลไปโผล่ที่ท้ายหมู่บ้านทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ จึงต้องแก้ไขโดยการจัดทำฝายดักไว้ต่อเป็นระบบท่อสายหลักและให้ชาวบ้านนำท่อมาต่อตรงจุดที่ได้จัดทำไว้ หัวหน้าภาคสนามมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ บอกว่า ก่อนหน้านั้นชาวบ้านในชุมชนประสบปัญหาในเรื่องของพื้นที่ทำกินอย่างมาก เพราะปลูกแต่พืชเชิงเดี่ยวมาตลอดส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดกันทุกบ้านขาดทุน ประสบปัญหาหนี้สิน ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจพบว่า ชาวบ้านในชุมชนมีหนี้สินรวมประมาณ 9 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 100,000 บาท เมื่อรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นลงพื้นที่เข้าไปสำรวจเรื่องน้ำ 6 มิติ คือ น้ำ การเกษตร ป่า พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และสอบถามว่าชาวบ้านต้องการให้ช่วยเหลือพวกเขาด้านใดบ้าง ทางชาวบ้านต้องการให้ทางมูลนิธฯ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินที่เป็นอยู่ และปัญหาหลักคือ การขาดแคลนน้ำเป็นปัจจัยหลักของการผลิต และในปี 2553 เริ่มทำการพัฒนาในเรื่องของระบบน้ำทั้งหมด โดยจัดทำฝายการเกษตร 3 หมู่บ้าน 25 ครัวเรือน ฝายอนุรักษ์ 350 ฝาย และบ่อพวงสันเขา 45 บ่อ ทำให้ใน 3 อำเภอ 20 หมู่บ้านมีพื้นที่รับน้ำประมาณ 11,604 ไร่คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของพื้นที่ทำกินทั้งหมด 47,836 ไร่ ส่งผลให้ประชาชนมีน้ำทำการเกษตร ผลผลิตเพิ่ม มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 32 ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ในการวางระบบน้ำเท่านั้น เรื่องการก่อสร้างจัดทำนั้นจะให้ชาวบ้านเข้ามาดูแลช่วยกันทำเน้นให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากที่สุดเพื่อให้พวกเขารู้คุณค่าก่อให้เกิดความสามัคคี และเห็นความสำคัญการอยู่รวมกันและดูแลรักษาน้ำใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด ทำให้เกิดการจัดตั้งการบริหารจัดการเรื่องน้ำขึ้นในที่ชุมชนแห่งนี้ก็จะมีการเก็บค่าบำรุ่งรักษาปีละ 10-20 บาท “เกิดการพัฒนาขึ้นทั้งแหล่งน้ำ ที่ทำกิน พื้นที่ป่าไม้ ชาวบ้านมีอาชีพด้านการเกษตรกรรมแบบผสมผสาน การเพิ่มทักษะเรียนรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อให้เกิดผลผลิตมากมายในชุมชนเกิดการส่งเสริมการทำผลิตภัณฑ์แปลรูปอย่างเช่น มีการสนับสนุนให้ปลูกพริกซูปเปอร์ฮอท มีการนำมะแคว มาทำเป็นน้ำพริกขายเพิ่มรายได้ นอกเหนือจากการปลูกมะนาว ปลูกกล้วย มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น การที่ได้นำความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ามาประยุกต์และให้ชาวบ้านได้เรียนรู้หลักการทำอาชีพด้านเกษตรกรรมรู้จักปลูกพืชระยะสั้น ระยะยาว เพื่อหมุนเวียนรายได้ตลอดทั้งปีในการมีพืชผักบริโภคและเหลือนำผลผลิตไปขาย ชาวบ้านรู้จักพัฒนาตนเองหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นทำให้มีทั้งเก็บไวกิน และขาย และสามารถลดการบุกรุกทำลายป่าทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มทั้งสิ้น 131,492 ไร่ แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 76,760 ไร่ ป่าเศรษฐกิจ 33,499 ไร่ ป่าใช้สอย 21,263 ไร่ ลดการใช้พื้นที่ทำกิน 32,976 ไร่ มีการบริหารจัดการป่าของคณะกรรมการหมู่บ้าน ไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น ไฟป่าลดลงร้อยละ 99.9 สำหรับทางมูลนิธปิดทองหลังพระฯ สิ่งที่ได้จากการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ มาปลูกฝังชาวชุมชนปรับใช้โดยเฉพาะ ขบวนการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ทำให้ได้รู้ถึงปัญหาของชาวบ้าน เกิดความผูกพัน เกิดความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความเจริญสู่ชาวบ้านในชุมชนบ้านยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน อย่างยั่งยืน” นางสาววารุณี กล่าวสรุป จากนั้นได้เดินทางมายังที่ดินไร่ของ นายวรพล รักษา ชาวสวนมะนาว ได้หลักการของเกษรตรทฤษฎีใหม่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ามาปรับปรุงในพื้นที่ทำกินของตนเอง ได้เล่าว่า “เดิมไร่ของผมปลูกแต่ข้าวโพดเท่านั้น แหล่งน้ำก็หาอยากไม่มีน้ำใช้เรื่องเกษตรมากเท่าที่ควร ผลผลิตออกมาก็ไม่ได้ประสิทธิภาพ เป็นหนี้สินมากอยู่ แต่พอได้มีหน่วยงานมาช่วยเหลือดูแลระบบน้ำให้พวกเรา สอนหลักการทำเกษตรแบบผสมผสาน มีรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น ปลูกไวกิน เหลือก็นำไปขาย หมุนเวียนก็ทำให้ครอบครัวผมมีรายได้อย่างต่อเนื่อง และหมดหนี้สิน ตอนนี้ที่ดินมีอยู่ 11 ไร่ แบ่งปลูกมังคุด มีต้นมะม่วงหิมพานต์ 130 ต้น รอผลผลิต มีกล้วย ปลูกพริก ผักสวนครัว และก็ปลูกมะนาวจะมากหน่อยเพราะสร้างรายได้ดีกว่าพืชอื่นต่อเดือนอยู่ประมาณ 5,000 บาท พืชผลดีก็เพราะมีระบบน้ำเข้ามาช่วยกักเก็บให้ไว้กินไว้ใช้ ตอนนี้ผมและครอบครัวมีความเป็นอยู่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เป็นหนี้สินมากมายเหมือนเมื่อก่อน การซื้อหาของกินไม่ต้องลำบาก ปลูกกินเองได้ และนำไปขายได้อีก” ด้าน นางสาวพิจิตรา ยิ้มจันทร์ ที่ปรึกษามูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ได้สรุปว่า การทำงานโดยหลักๆ แล้วคือ การสืบสานงานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ และการเกษตรทฤษฎีใหม่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สู่ชุมชนทั่วภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาพื้นที่ทำกินของประชาชน และในครั้งนี้การที่เดินทางมายังชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน และชุมชนบ้านยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน เป็น การสัมผัสถึงวิถีของการพัฒนาชุมชนที่เมื่อการได้รู้กับหลักการดำเนินชีวิตคือต้องเกิดจากการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ด้วยความสามัคคีที่ต้องการให้ครอบครัวและคนในชุมชนของตนเองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยเพราะหลักการนำปรัชญาเศรษฐกิจกิจพอเพียงฯ เข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตได้อย่างลงตัว “ชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ประสบปัญหาเรื่องของป่าไม้ ปัญหานำยาเสพติดเข้ามาในชุมชน การพนัน เมื่อชาวบ้านได้เห็นปัญาหาของตนมากขึ้นและชัดเจนทำให้เกิดหนทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยการรวมกลุ่มกันรวมแรงรวมใจจัดตั้ง วิสาหกิจชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวบ้าน ใช้หลักการของบวรมาใช้ คือบ้าน วัด โรงเรียน รวมกันคิดและดำเนินการแก้ไขให้ตรงจุด จึงรวมตัวกันประกอบชีพหลักในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ใกล้ตัว การส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกสมุนไพร และนำขายให้กับวิสาหกิจฯ ทำให้เกิดรายได้ขึ้น และสมุนไพรนำไปแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ขาย เช่น แชมพู สบู่ ครีมทาผิว น้ำชา เป็นต้น ณ ปัจจุบันนี้ชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน มีความแข็มแข้งและสามัคคีกลมเกลียวกันอย่างมาก พิสูจน์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานให้เป็นแนวทางให้กับพสกนิกรชาวไทยก่อให้เกิดความความเจริญ ความซื้อสัตย์ในชุมชน ความรักและสามัคคี การพึ่งพาตนเอง เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้คนในชุมชนยิ้มได้ กินอิ่มนอนหลับ” นางสาวพิจิตรา กล่าว นางสาวพิจิตรา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในส่วนของบ้านยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่านนั้น ปัญหาที่เกิดไม่ได้แตกต่างไปจากบ้านน้ำเกี๋ยนเท่าไรนัก โดยหลักๆ แล้วชุมชนนี้มีปัญหาขาดแคลน้ำการทำเกษตรกรรม ป่าไม้ถูกทำลายมาก พื้นที่ทำกินปลูกแต่ข้าวโพค ทำให้มีรายได้น้อยมากเกิดหนี้สินจากการทำไร่ มูลนิธิปิดทองหลังพระ ฯ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเรื่องระบบน้ำ การนำนักวิชาการเข้าไปให้ความรู้ด้านเกษตรผสมผสานมากขึ้น ชาวบ้านรู้จักพัฒนาที่ทำกิน เพื่อให้มีพืชเศรษฐกิจหมุนเวียนไว้กินไว้ขายได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการปลูกมะนาว ต้องยอมรับว่า ชาวบ้านทุกคนมีความแข้มแข็งกันอย่างมาก ที่จะช่วยเหลือต่อกันเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนให้ดีขึ้น ยอมรับวิธีการแบบใหม่เพื่อพัฒนาตนเองและครอบครัวนั่นคือไม่โลภ ไม่ฟุ่มเฟื่อย ทำสิ่งใกล้ตัวที่คิดว่าไม่ก่อประโยชน์มาแปรรูปให้เกิดมูลค่าเกิดประโยชน์ ทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านดีขึ้น ดูแลตนเอง เรียนรู้ที่จะอยู่กับป่า เพราะป่าสร้างประโยชน์ให้พวกเขาได้อย่างมั่นคง ที่เกิดความอุดมสมบูรณ์ จากที่คนในครอบครัวต้องออกไปทำงานที่อื่น ตอนนี้ไม่ต้องไปที่ไหนกลับมาอยู่บ้านก็มีอาชีพให้ทำกินไม่ลำบากอีกต่อไป ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า และไม่ว่าชุมชนอื่นก็อาจจะมีปัญหาเข้ามาทำให้เกิดความทุกข์ ความยากจน แต่ถ้าชุมชนนั้นมีความสามัคคี รวมแรง รวมใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ชุมชนนั่นก็มีความแข้มแข้ง มีความสุข ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็จะได้รับการแก้ไขได้อย่างดี” ฤทัยรัตน์ เมืองกฤษณะ/รายงาน