ต้องยอมรับว่า เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ทำให้วิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป วัฒนธรรม หรือความเคยชินเดิมๆ ก็ถูกเติมเต็มด้วยความรวดเร็วขึ้น สะดวกสบายขึ้น เรากำลังพูดถึงการอ่านหนังสือพิมพ์ ย้อนไปเมื่อกว่าสิบปีก่อน สังคมเราเป็นสังคมก้มหน้าก็จริง แต่ทุกคนบนรถประจำทาง ป้ายรถเมล์ ร้านอาหาร หรือขณะนั่งพักรอ ต่างก้มหน้าไม่ละสายตาจากหนังสือพิมพ์กระดาษที่อยู่ในมือเพื่อเสพข่าวสารความเป็นไปของโลก ทว่า วันนี้ไม่ใช่อีกแล้ว สังคมยังคงเป็นสังคมก้มหน้าเช่นเดิม หากแต่ในมือของมนุษย์ยุคโลกาภิวัฒน์กลับเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็ปเล็ต ที่ทุกคนใช้เชื่อมต่อเข้าหากันได้แบบไร้พรมแดน อยากจะอ่านเนื้อหาอะไรก็สามารถหาได้จากโลกอินเตอร์เน็ตแค่เพียงคลิก ไม่ต้องซื้อหนังสือพิมพ์หลายฉบับเพื่อเปรียบเทียบข้อมูล ไม่ต้องถือไปถือมาให้เป็นภาระ "หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย" วลีที่ใครๆ ก็พูดกัน แต่ก็ยังเป็นที่เห็นต่าง มีหลายมุมมอง ทั้งที่คิดว่า หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษจะตายจริงๆ เพราะไม่มีคนอ่าน และในมุมมองของเจ้าของธุรกิจก็ไม่คิดว่าจะเก็บธุรกิจที่ไม่ทำกำไรเอาไว้ หรือหนังสือพิมพ์ที่เป็นสถาบันจะเปลี่ยนรูปแบบไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ตอบสนองกลุ่มผู้รับสารที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า จากสถิติพบว่า สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลก ทั้งหนังสือพิมพ์ และนิตยสารอยู่ในช่วงขาลงที่เรียกว่าวิกฤติจริงๆ ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิมต้องกระจายไปยังสื่อประเภทอื่นๆ เฉพาะในประเทศไทยเราได้เห็นปรากฎการณ์นิตยสารหลายฉบับโบกมือลาจากแผง หนังสือพิมพ์ปรับลดพนักงาน เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่ออนไลน์เต็มตัว เช่นเดียวกัน จากสถิติของ World Association of Newspapers and News Publishers พบว่า ยอดพิมพ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศตะวันตกลดลงถ้วนหน้า โดยสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3 ฝรั่งเศส ลดลงร้อยละ 6 เยอรมนี ลดลงร้อยละ 9 และสหราชอาณาจักร ลดลงร้อยละ 12 ล่าสุดที่เพิ่งเป็นข่าวดังไปทั่ว ขนาดเครือแฟร์แฟกซ์ สื่อยักษ์ใหญ่ในออสเตรเลีย ที่มีสิ่งพิมพ์ในมืออาทิ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัล และเดอะ เมลเบิร์น เอจ ประกาศจะลดพนักงานในส่วนของกองบรรณาธิการลง 125 ตำแหน่ง หรือ 1 ใน 4 ของพนักงานในส่วนนี้ ตามแผนปรับลดค่าใช้จ่าย ยังไม่นับรวมกับที่จะปรับลดในส่วนของพนักงานอิสระลงต่างหาก ส่งผลให้พนักงานออกมารวมตัวกันประท้วงผละงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนังสือพิมพ์จะทรุดทั่วโลก แต่มีประเทศหนึ่งที่สวนกระแส นั่นก็คือ "อินเดีย" จำนวนยอดพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ และยนิตยสารในอินเดีย เพิ่มขึ้นกว่า 23 ล้านฉบับต่อวัน ระหว่างปี 2006 ถึง 2016 ตามข้อมูลของสำนักงานด้านสถิติของอินเดีย ยอดโตเฉลี่ย เกือบร้อยละ 5 ต่อปี สอดคล้องกับสถิติของ World Association of Newspapers and News Publishers ที่ระบุว่ายอดพิมพ์หนังสือพิมพ์ในอินเดียเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32 ช่วงปี 2013 ถึง 2015 ตัวเลขการขยายตัวของสื่อสิ่งพิมพืในอินเดียที่สวนกระแสโลกนั้น มีขึ้นแม้ว่รัฐบาลอินเดีย และบริษัทต่างๆ อย่างกูเกิล และเฟซบุ๊ค กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศที่มีประชากรประมาณ 1.3 พันล้านคนแห่งนี้ ให้เข้าสู่สังคมอินเตอร์เน็ต โดยหน่วยงานของรัฐบาลอินเดียให้เห็นผลของการเติบโตของสื่อสิ่งพิมพ์ว่ า มาจากอัตราการรู้หนังสือ และการศึกษาที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ขณะเดียวกัน เนื้อหาที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของท้องถิ่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์บูมมาก ปัจจุบันอินเดียมีสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นประเภท Paid Publications 7,871 ฉบับ มากกว่าในหลายๆ ประเทศรวมกันเสียอีก และส่วนใหญ่ตีพิมพ์ในภาษาท้องถิ่น โดยหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับเดียวที่ติดท็อป 10 ยอดขายในประเทศก็คือ Times of India จำนวนผู้อ่านที่มากขึ้น นั่นหมายความถึงเม็ดเงินมากขึ้นของผู้พิมพ์ คาดกันว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในอินเดียจะดึงเม็ดเงินโฆษณาได้มากถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 201 เพิ่มจาก 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2016 ขณะที่ มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมนี้ จะอยู่ที่ราว 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรื่องราวนี้ให้แง่คิดอะไรเรื่องใดบ้าง หนึ่งเลยก็คือ การศึกษา การรู้หนังสือ ทำให้คนอ่านมากขึ้น ซึ่งการปฏิรูปการศึกษายังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยเสมอมา และการที่สื่อสิ่งพิมพ์ในอินเดียขยายตัว มาจากฐานรากที่เป็นสื่อภาษาท้องถิ่น หมายถึงสื่อเฉพาะกลุ่มมากขึ้น วันนี้ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์อาจจะต้องมานั่งคิดแล้วว่า สื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลักวันนี้จะอยู่ในฐานะ Mass Media แบบเดิม หรือจะค่อยๆ ปรับตัวไปเป็น Segment Media พร้อมๆ กับการดำรงไว้ซึ่งความเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ และปรับเปลี่ยนช่องทางเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้อ่านยุคใหม่มากขึ้น