มัลแวร์เรียกค่าไถ่โจมตี 99 ประเทศทั่วโลก บริษัทชั้นนำสหรัฐฯ หน่วยงานราชการในอังกฤษ แม้แต่กระทรวงมหาดไทยรัสเซียก็ไม่รอด ล่าสุดนักวิจัยพบวิธีหยุดการแพร่กระจาย แนะรีบอัพเดตระบบ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 60 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของการโจมตีทางไซเบอร์ ไดยมัลแวร์เรีกค่าไถ่ไปทั่วโลก เมื่อวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ ของหน่วยราชการในหลายประเทศ รวมทั้งองค์กรธุรกิจได้รับผลกระทบ รายงานระบุว่า การโจมตีดังกล่าวใช้เทคนิคที่เรียกว่าแรนซัมแวร์ (Ransomware) ที่ชื่อว่าชื่อว่า ดับบลิวคราย (WCry) หรือนักวิจัยเรียกอีกว่า วานนาคราย (WannaCry) เป็นมัลแวร์ประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้งาน แต่จะทำการเข้ารหัส หรือล็อกไฟล์ไม่ให้ผู้ใช้งานเปิดได้ จนกว่าจะทำการจ่ายเงินตามข้อความ "เรียกค่าไถ่" ที่ปรากฏเพื่อได้คีย์ในการปลดล็อก อย่างไรก็ตามการชำระเงินก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ไม่หวังดีจะส่งคีย์ที่ใช้ในการปลดล็อคไฟล์ให้กับผู้ใช้งาน โดย นายจาคอบ เคราสเตค จากบริษัทอวาสต์ ระบุว่า ตรวจพบการโจมตีกว่า 7.5 หมื่นครั้ง ใน 99 ประเทศทั่วโลก เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. สอดคล้องกับรายงานของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ที่เปิดเผยว่า มีการโจมตีไปทั่วโลก และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว สำหรับรายงานผลกระทบพบว่า เฟดเอกซ์ บริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ก็ถูกโจมตีโดยมัลแวร์นี้ เช่นเดียวกับที่อังกฤษ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีออกมายอมรับว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขแห่งชาติ หรือเอ็นเอชเอสก็ได้รับผลกระทบ ขณะที่สเปน บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากรวมทั้งเทเลโฟนิกา ได้ประกาศให้พนักงานยุติการทำงานทันที แม้แต่กระทรวงมหาดไทยรัสเซียก็ยอมรับว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ใช้ระบบวินโดวส์ได้ถูกโจมตี แต่ยืนยันว่าไม่มีข้อมูลใดๆ ถูกขโมยไป ล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นักวิจัยด้านการโจมตีทางไซเบอร์ได้ค้นพบวิธีป้องกันการแพร่กระจายของการโจมตีนี้ได้แล้วโดยบังเอิญ โดยการลงทะเบียนชื่อโดเมนเนมที่ใช้โดยมัลแวร์ และได้แนะนให้ผู้ใช้อัพเดตระบบของตัวเองให้เร็วที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีดังกล่าว