นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงฯ ได้เร่งจัดทำร่างนโยบายฟื้นฟูการท่องเที่ยวจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยได้ระดมความคิด ทั้ง กรมการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อนำมาเสนอในที่ประชุมอีกครั้ง ก่อนจะนำไปสู่ที่ประชุมครม.ต่อไป ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงท่องเที่ยวฯ ได้ประชุมร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข โดยมี อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการระดมสมองในการหามาตรการทางสาธารณสุขที่จะให้ทางภาคท่องเที่ยวนำไปปฏิบัติ เป็นแนวทางที่ชัดเจน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นประธานการประชุมนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) ต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกอย่างจะต้องออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เพื่อที่จะนำเข้าสู่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปีปีที่ 2 สมัยที่ 1 ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึง หลังจากนั้นก็จะเป็นการทำงานร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบหมายให้แต่ละจังหวัดมีแนวปฏิบัติไปในในทิศทางเดียวกันตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่ง นายพิพัฒน์ ยังกล่าวถึงการช่วยเหลือในภาคส่วนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ ว่า ทางรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเวลานี้ทางนายกรัฐมนตรี ได้เชิญสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และอีกหลายสมาคมธุรกิจ อาทิ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ แอตต้า มาประชุมร่วมกัน เพื่อรับฟังปัญหา และระดมความคิดเห็นทางด้านผลกระทบจากทุกภาคส่วน นำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาปลดล็อคประเทศไทยครั้งที่สอง “ถ้าปลดล็อคอีกครั้งน่าจะครอบคลุมเกือบทุกธุรกิจ ยกเว้น สนามมวย ฟุตบอล หรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสถานที่ที่แออัด มีคนเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมาก ก็น่าจะต้องล็อคดาวน์ไปอีกหลายเดือน แต่ในกรณีศูนย์การค้า คงจะอยู่ในธุรกิจที่ได้รับการปลดล็อคในรอบสองนี้ ทั้งนี้คงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในสองสัปดาห์ติดต่อกัน” นายพิพัฒน์ กล่าว อย่างไรก็ตาม นายพิพัฒน์ ได้กล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยว ว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลายน่าจะมีเวลาประมาณ 6 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป จนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งในช่วงปลดล็อคใหม่ๆ ภาคท่องเที่ยวของไทยคงจะต้องอาศัยการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ยังติดปัญหาในเรื่องของการบินที่ยังไม่อนุญาตให้บินข้ามประเทศนั้นเอง สำหรับข้อมูลตัวเลขการท่องเที่ยวในประเทศ และต่างประเทศเมื่อปี 2562 สร้างรายได้ประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท ดังนั้นในปีนี้จึงประมาณการว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ถึง 1.3 ล้านล้านบาท แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการปลดล็อคดาวน์ทั้งหมดให้มีการเดินทางไปมาสู่กันได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน รวมถึงเป็นกรณีที่ไม่เกิดเฟส 2 โดยโควิด-19 จะต้องไม่ย้อนกลับมาระบาดใหม่อีกครั้งในประเทศไทย โดย นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ช่วงไตรมาสแรกตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวน 6.7 ล้านคน และมีการท่องเที่ยวภายในประเทศถึง 24 ล้านคน/ครั้ง โดยท่องเที่ยวในประเทศเมื่อปี 2562 อยู่ที่ 166 ล้านคน/ครั้ง ปีนี้น่าจะสามารถทำได้เมื่อเทียบสัดส่วนกับไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 70-90 ล้านคน/ครั้ง และเมื่อรวมกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะได้มาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 อยู่ที่ 9 ล้านคน หรือตกเดือนละ 3 ล้านคนก็น่าจะได้จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมอยู่ที่ 15.7 ล้านคน สร้างรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท เป็นเป้าที่กระทรวงฯตั้งไว้ เพื่อนำเสนอทางรัฐบาลต่อไป โดยอยู่ในกรอบเงื่อนไขของเวลาที่จำกัด