เมื่อภาพรวมธุรกิจไมซ์จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ระบุว่า อุตสาหกรรมไมซ์ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่พร้อมกันทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้นมีการเลื่อนและยกเลิกงานประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันพบว่ามีความเสียหายคิดเป็นมูลค่าเกือบ 50,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ หลายๆ ภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการ ได้ปรับตัวเพื่อทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้บริโภค (consumer behavior) แบบใหม่ ในการนำเสนอบริการให้ตรงใจเฉพาะบุคคล (personalization) ดังนั้นสิ่งที่จะต้องโฟกัสหลังจากนี้ คือ ความปกติใหม่ หรือ new normal ที่จะเกิดขึ้น คือ สุขอนามัย (hygiene) และพื้นที่ประชุมสัมมนาเสมือนจริง (virtual meeting space : VMS) ผลักดันธุรกิจให้เดินหน้าต่อ ทั้งนี้ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า เมื่อการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการยกเลิกงานด้านอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลก จนการประชุมออนไลน์ การแสดงสินค้าออนไลน์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการอยู่รอดของธุรกิจ โดยทางผู้ประกอบการของไทยได้ปรับตัว เพื่อผลักดันธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป โดยทางทีเส็บได้นำมาตรการของทางรัฐบาลในการฟื้นฟู พร้อมมุ่งเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐานสถานที่จัดงานและผู้ประกอบการไมซ์ ทั้งมาตรฐานความปลอดภัย และการส่งเสริมการจัดงานโดยใช้เทคโนโลยีออนไลน์ ซึ่งในเบื้องต้นหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย จะประสานงานแต่ละจังหวัดเพื่อทำอนุภาคี และการจัดไมซ์ข้ามจังหวัด โดยใช้โครงการหลักประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ เมื่อเข้าสู่ซีโร่ โควิด สามารถเปิดการเดินทางท่องเที่ยว และจัดประชุม ซึ่งรูปแบบจะทำเป็นทีละกลุ่ม ไม่ทำพร้อมกัน แต่จะเจาะตลาดหลัก ที่เป็นภาคีพันธมิตรทีเส็บ ทั้ง หน่วยงานภาครัฐ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอื่น ๆ รณรงค์ให้ช่วยกันจัดงานประชุมสัมมนาภายในประเทศ ขณะที่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งเริ่มจะปลดล็อกบางประเทศ หรือไม่มี Qualantine อีกต่อไป ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามผลวิจัยและประมวลตามเอกสารต่าง ๆ จะมีความพร้อมเดินทางมาไทยเป็นประเทศแรก ก็จะมีการทำงานโดยมีความร่วมมือแบบ ทวิภาคี เพื่อให้สามารถดำเนิงานในด้านต่างๆ ทั้งการตรวจเช็คพร้อมในการเดินทางมาจัดประชุมหรือทำกิจกรรมไมซ์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ด้าน นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า ทาง ทีเส็บ ได้เตรียมการเยียวยาด้วยการสนับสนุนแคมเปญสำหรับการปรับปรุงห้องประชุม ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดงานต่าง ๆ ให้ถูกสุขอนามัยและเหมาะสมกับการรับมือสถานการณ์หลังโควิด-19 อาทิ มีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ จัดที่นั่งห่าง เป็นต้น โดยจะมีงบประมาณให้สถานที่ละ 30,000 บาท “เมื่อการแพร่ของโควิด-19 ยุติ ก็จะเร่งส่งเสริมการเจาะกลุ่มตลาดไมซ์ระยะใกล้ เช่น กลุ่มประเทศในอาเซียนและเอเชีย เพื่อให้เกิดการเดินทางอย่างรวดเร็ว โดยสนับสนุนการดึงงานระดับนานาชาติ และงานรวมกลุ่มของผู้จัดงาน เพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยชัดเจนขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งในการตรียมความพร้อมรับมือหลังจากโควิด-19 จบลง” นางศุภวรรณ กล่าว เร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ขณะที่ นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 สำหรับประเทศไทยส่งผลกระทบกับธุรกิจอีเว้นท์โดยรวม 100 % ไปจนถึงเดือนตุลาคม และน่าจะดีขึ้นช่วงต้นปี 2564 ดังนั้นธุรกิจอีเวนต์จะไปต่อได้จึงต้องเร่งปรับตัว 2 เรื่องหลัก คือ 1. ปรับตัวเป็นไฮบริดอีเวนท์ หรือออนไลน์ผสมอีเวนท์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เริ่มเกิดมากขึ้น คือ ผู้คนสามารถเข้ามาชมแบบไลฟ์สดได้ โดยเฉพาะอีเวนต์ที่เน้นเรื่องคอนเทนต์เป็นหลัก เช่น งานสัมมนาต่างๆ ที่สามารถเอาคนมาฟังพร้อมๆ กัน มีการสื่อสารระหว่างกันได้ หรือในรูปแบบของ Virtual Event เพื่อเป็นส่วนขยายของงานที่ถูกจัดขึ้นบนโลกจริงบนโลกออนไลน์ ซึ่งต้องดึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยมาช่วย ส่วนข้อ 2. หากมีการปลดล็อกเมืองในระยะแรก ธุรกิจอีเวนท์ต้องมีระบบและมาตรการเกี่ยวกับการคัดกรองอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่เข้ามาชมงาน มีการฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดบ่อยครั้งขึ้น และต้องกำหนดจำนวนคนที่เข้ามาในพื้นที่จัดงาน ด้าน นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า หากประเมินผลกระทบด้านรายได้ของ อิมแพ็ค ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ เนื่องจากมีทั้งงานที่ลูกค้าแจ้งเลื่อนและบางงานแจ้งยกเลิกการจัดงานในปีนี้ แต่ด้วยทางอิมแพ็คได้จัดทำแผนงานทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan หรือ BCP) ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว เพราะฉะนั้นทุกแผนกในองค์กรจึงสามารถปรับตัวรับมือกับกรณี ที่มีเหตุการณ์ให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักได้อย่างรวดเร็ว เช่น การกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ชัดเจน ทั้งการทำความสะอาดพื้นที่ ปิดพื้นที่บางส่วนเพื่อลดการเข้าถึงและลดโอกาสในการแพร่ระบาดของเชื้อ การกำหนดมาตรการเพื่อให้งานที่มีกำหนดจัดขึ้นยังสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยมีระบบการป้องกันที่รัดกุมทั่วถึง อย่างเช่น งานสอบของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ผ่านมาก่อนจะมีประกาศล็อคดาวน์ ซึ่งมีเด็กนักเรียนและผู้ปกครองเข้าร่วมงานมากกว่า 30,000 คนในพื้นที่ ซึ่งงานก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากการจัดการกับพื้นที่ในฮอลล์หรือห้องประชุมแล้ว ได้มีการนำมาตรฐานเดียวกันมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่โดยรอบ ทั้งโรงแรม ร้านอาหารและศูนย์การค้า มีการปรับบริการจำหน่ายอาหารแบบ Take away และ Delivery การส่งถึงที่แทนการจำหน่ายที่ร้านในช่วงโควิด-19 ระบาด และเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการขยายพื้นที่จัดงานในอนาคตหลังจากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีโอกาสได้ให้บริการจัดงานต่างๆ อีกครั้ง แม้รูปแบบการจัดงานจะเปลี่ยนไป ก็พร้อมรองรับในทุกรูปแบบและทุกความต้องการบนมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด