ทรงสร้างประโยชน์สูสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] ครูภูมิปัญญาไทย ตัวอย่างผู้เดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ(1) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 พระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ตลอดจนทรงถือปฏิบัติเป็นพระราชกรณียกิจที่เป็นแบบอย่างเพื่อราษฎรทุกคนจะได้น้อมนำเดินตามรอยพระยุคลบาท หรือน้อมนำเพื่อศึกษาเรียนรู้นำสู่การปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่การประกอบอาชีพการงาน การอนุรักษ์สืบสานเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทย ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนชาวไทย ทั้งในด้านการเกษตร การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะนักศิลปะและศิลปินได้ศึกษาและน้อมนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติตนเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีค่าสู่สังคมไทย มาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นบุญสิริมงคล เป็นความภาคภูมิใจแก่พสกนิกรชาวไทยที่ได้เกิดมาในใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ที่ทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างมิทรงคำนึงถึงความเหนื่อยยากพระวรกาย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างทรงตรากตรำตลอดช่วงเวลาแห่งการครองราชสมบัติ 70 ปี ด้วยพระราชปณิธาน เพื่อสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา วันนี้เป็นที่ประจักษ์ว่าประชาชนคนไทยได้เดินตามรอยพระยุคลบาทน้อมนำแนวพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท หลักการทรงงานที่ทรงดำเนินพระองค์เป็นแบบอย่างนำมาเป็นเครื่องมือดำเนินชีวิต จนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นมีความสุขอย่างยั่งยืน อีกทั้งได้สืบสานพระราชปณิธานขยายผลพระมหากรุณาธิคุณไปสู่เพื่อนพี่น้องคนไทยด้วยกันเป็นกำลังสำคัญขยายผลแนวพระราชดำริน้อมนำหลักการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริอันเป็นแนวทางนำสู่ความสุขซึ่งเป็นพระราชปณิธานอันมั่นคงที่ทรงมีพระราชประสงค์ทรงเห็นราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดี รวมพลังอนุรักษ์สืบสานมรดกทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งรวมปัจจัยสี่ปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิต รวมพลังอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทยให้ดำรงเป็นเอกลักษณ์สืบไปตราบนานเท่านาน ที่สุดประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่งที่เดินตามรอยพระยุคลบาทดังกล่าวเป็นที่พึ่งของตนเองและเป็นที่พึ่งของชุมชนได้จนได้รับการเชิดชูว่าเป็นผู้ทรงภูมิปัญญายอมรับในฐานะนักปราชญ์แขนงต่างๆของชุมชนอันนำไปสู่การประกาศยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยโดยหน่วยราชการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้วถึง 7 รุ่น หน่วยงานที่ว่าคือสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในนามรัฐบาลซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้ทรงภูมิปัญญาเชี่ยวชาญภูมิปัญญาไทยด้านต่างๆอย่างลึกซึ้งด้านอาชีพด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆด้านก็มีอยู่ไม่น้อยทีเดียวจนสามารถดูแลชีวิตตนเองครอบครัวให้หลุดพ้นจากความอดอยากขาดแคลน มีที่อยู่อาศัยมีที่ทำกิน มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้มั่นคง แม้จะไม่ได้ร่ำรวยมากมายแต่ก็พอยู่พอกินพอเก็บพอแบ่งปันดำเนินไปอย่างมีความสุข เป็นความสุขอย่างยั่งยืน โดย พึ่งพาตนเองได้ตามวิถีแห่งความพอเพียง ปราชญ์ชาวบ้านทั้งหลายที่สกศ.ประกาศเชิดชูยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญานั้นล้วนแล้วแต่น้อมนำเอาหลักแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9มาเป็นประทีปส่องทางนำพาชีวิตตนเองครอบครัวและแนะนำคนอื่นๆก้าวไปสู่จุดหมายคือความสุขสนองพระราชปณิธานได้อย่างแท้จริง แล้วที่เต็มเปี่ยมอยู่ในสำนึกแห่งหัวใจของปราชญ์ชาวบ้านทั้งหลายทั้งที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูจากหน่วยงานต่างๆหรือไม่ได้รับการประกาศเชิดชูก็ตามส่วนใหญ่คือคุณธรรมจริยธรรมที่ถูกปลูกฝังหล่อหลอมลึกอยู่ในกมลมายาวนาน คุณธรรมข้อสำคัญหนึ่งที่เดินตามรอยพระยุคลบาทคือความเพียรความขยัน ตามมาด้วยความอดทน รู้จักมัธยัสถ์อดออม คุณธรรมสำคัญที่พระราชทานแนะนำไว้คือไม่ตั้งอยู่ในความโลภ มีความรักความเมตตาเอื้ออาทร มีความกตัญญูรู้จักแบ่งปัน ไม่หวงแหนไว้เพียงคนเดียว อันเป็นหลักคุณธรรมจริยธรรมที่พระราชทานไว้ในหลักการดำเนินชีวิตที่จะนำพาสู่ความสุขคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(อ่านต่อ)