อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ชำแหละกระทะหินอ่อน เผยโครงสร้างที่ทำให้กระทะลื่นปรื๊ด-อาหารไม่ติด แท้จริงแล้วมีอะไรเป็นองค์ประกอบอะไรบ้าง ดราม่าเรื่องราวที่สังคมต่างให้ความสนใจ กรณีที่เฟซบุ๊กหนึ่งออกมาแฉกระทะยี่ห้อดัง ขายราคาแพงเกินจริง แถมยังมีการพิสูจน์คุณสมบัติของกระทะยี่ห้อดังกล่าวกันอย่างคึกโครม นอกจากนี้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า สินค้าประเภทอื่น ๆ ที่มีการโฆษณาผ่านโทรทัศน์นั้น ได้ตั้งราคาขายไว้สูงเกินจริงมาก ก่อนจะลดราคาลงเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้า เข้าข่ายการโฆษณาชวนเชื่อหลอกให้ซื้อหรือไม่ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเรื่องการกำหนดราคาด้วย และประเด็นนี้ทำให้หลาย ๆ คนต่างก็อยากรู้ว่า แท้จริงแล้วเจ้ากระทะเคลือบนั้น มีอะไรเป็นส่วนผสมบ้าง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 ที่เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาชำแหละโครงสร้างของกระทะหินอ่อน ว่ามีโครงสร้างอย่างไรทำไมถึงลื่น ไม่ทำให้อาหารนั้นติดกระทะ เพื่อเป็นประโยชน์และความรู้แก่ผู้บริโภคแบบถึงใจกันเลยทีเดียว "ชำแหล่ะโครงสร้าง กระทะหินอ่อน โคคาควีน"ระหว่างที่รอ อ.อ๊อด Weerachai Phutdhawong ผ่ากระทะหินอ่อนชื่อดัง เพื่อทดสอบวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ว่ามันประกอบมาจากอะไรบ้าง ... เรามาลองหาข้อมูลกันดูซิว่า มันควรจะมีโครงสร้างเป็นอย่างไรกันแน่ ทำไมมันถึงดี ลื่นปรื้ด อย่างนั้น สำหรับบทความทั้งหมด มีดังนี้ กระทะและเครื่องครัวหินอ่อน (marble cookware) นั้นเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากการอ้างว่ามันเคลือบพื้นผิวด้วย "หินอ่อน" แทนที่จะใช้สารเคมีเคลือบกันอาหารติดกระทะ ที่มีความกังวลกันว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อย่างสาร polytetrafluoroethylene (ย่อ ๆ ว่า PTFE) หรือชื่อการค้าว่า เทฟล่อน (ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เทฟล่อนนั้นไม่ได้อันตรายอย่างที่แชร์ ๆ กัน อย่างเช่น บอกว่าไอระเหยจากเทฟล่อน จะอันตรายต่อสุขภาพนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะต้องใช้ความร้อนสูง 260 องศาเซลเซียส และแค่ทำให้เกิดอาการคล้ายเป็นหวัดเท่านั้น จริง ๆ เทฟล่อนนั้นเสถียรมาก ต้องให้ความร้อนถึง 350 องศามันถึงจะสลายตัว) ลักษณะของเครื่องเคลือบหินอ่อนนี้ จะดูคล้ายกับเครื่องครัวพื้นเมืองที่ทำจากหินจริง ๆ ตามธรรมชาติ (นึกภาพหม้อหิน ไว้กินข้าวบิมบิมบับ ของเกาหลี) แต่ความจริงแล้วมันก็เป็นการเคลือบสารเคมีกันอาหารติด กลุ่ม fluoropolymer (โพลีเมอร์ของสารประกอบที่มีธาตุฟลูออรีน) เหมือนกันกับพวกเทฟล่อน การเคลือบหินอ่อนนี้ มีชื่อจริง ๆ ว่า "fluororesin paint film processing" หรือ กระบวนการเคลือบชั้นฟิล์มของสีและเรซินสีฟลูออรีน การใช้คำว่า "หินอ่อน" ก็เป็นแค่ลักษณะของลวดลายที่ถูก "พิมพ์" ลงไปเท่านั้น โดยสารกลุ่ม fluoropolymer ที่เอามาใช้เคลือบให้ลื่น อาจจะเป็นสาร PTEE ไม่ต่างอะไรกับการเคลือบเทฟล่อน หรือจะใช้สารโพลีเมอร์อื่น ๆ ที่เป็น fluororesin คือมีโครงสร้างทางเคมีประกอบด้วยฟลูออรีนก็ได้ ลองดูตัวอย่างการเคลือบผิวหินอ่อนของบริษัท Pfluon ในจีน ที่รับเคลือบผิวเครื่องครัวให้กับยี่ห้อต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง แล้วแต่ต้องการรูป สีสัน แบบ ลวดลาย ความหนาและจำนวนชั้นของสารเคลือบกันอาหารติด โดยตัวเครื่องครัวจริง (substrate) อาจจะเป็นอลูมิเนียม แล้วก็เคลือบด้านล่างให้เป็นผิวนอก (external coating) เคลือบสารกันติดชั้นแรก (primer coating) ชั้นกลาง (mid coating) และชั้นบน (top coating) ก่อนที่จะพิมพ์ลวดลาย (dot) ลงไป ซึ่งลายที่พิมพ์ ก็อ้างกันว่าใส่พวกเม็ดเซรามิกลงไปด้วย (ไม่น่าใช่ "หินอ่อน" จริง เพราะหินอ่อนมันถูกกัดกร่อนโดยกรดได้ง่าย) ไปจนถึงระดับที่อ้างว่าเป็นอนุภาพนาโนของไททาเนียม เพื่อให้มันลื่นและทนความร้อนได้สูงกว่าสารทั่วไป ตัวสาร fluororesin ที่เอามาเคลือบให้ลื่นและอาหารไม่ติดในแต่ละชั้นนั้น ก็จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ เช่น บางยี่ห้อ จริง ๆ ก็คือ PTFE เหมือนเทฟล่อน แต่จะบอกว่า ไม่มีสาร perfluorooctanoic acid (PFOA) ปะปนอยู่ (เป็นสารที่ใช้ในการเทฟล่อนยุคแรก ๆ ซึ่งตัวมันมีความเสี่ยงในการก่อมะเร็งได้ แต่เมื่อทำปฏฺิกิริยากลายเป็นโพลีเมอร์อย่างเทฟล่อนแล้ว ก็จะไม่ได้อันตราย) หรือบางยี่ห้อก็จะเน้นว่ามันทนทานเป็นพิเศษกว่ายี่ห้ออื่น กล่าวโดยสรุป กระทะหินอ่อน นั้นไม่ได้ทำจากหินอ่อนตามชื่อโดยตรง แต่คือกระทะโลหะที่เคลือบสารเคมีกันอาหารติดกลุ่มเดียวกับพวกเทฟล่อน แต่เคลือบหลายชั้น พร้อมพิมพ์ลายหินลงไปทีหลัง ส่วนคุณภาพนั้นก็น่าจะดีจริง ทนจริง อาหารไม่ติดกระทะจริง แต่ราคาแล้วแต่ฐานะกับความนิยม ภาพและข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์