สวก. จับมือ กลุ่มมิตรผล พัฒนางานวิจัยและต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรเชิงพาณิชย์ระยะ 5 ปี นำร่อง 3 โครงการปลูกถั่วเหลืองหลังนาทดแทนนำเข้า–เสริมทัพเกษตรอินทรีย์-พัฒนาคุณภาพดิน พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรตามแนวทางเกษตรยั่งยืน ระหว่างนางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กับนายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล โดยมีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องราชดำเนิน ชั้น 1 โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ด้านการเกษตรเปลี่ยนไปมาก สภาพอากาศแปรปรวน ที่ดินทำการเกษตรมีจำกัด แรงงานสูงอายุ ต้องใช้เครื่องจักร ราคาผลผลิตเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ความต้องการบริโภคสินค้าคุณภาพดีและปลอดภัยต่อสุขภาพมีมากขึ้น และเกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมี “นโยบายยกกระดาษ A4” เพื่อให้เกษตรปรับเปลี่ยนทำเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มรายได้ และภูมิใจในอาชีพ ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกมาตรฐานสินค้าเกษตร ใช้พื้นที่สูงสุด ใช้ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพสังคมด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่และผสมผสาน วิเคราะห์พื้นที่แบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารเชิงรุก (Agri-Map) เมื่อเหมาะสมต้องต่อยอดเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices หรือ GAP) ให้ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั้ง 882 แห่งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และบริการด้านเกษตรของชุมชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับงานวิจัยพัฒนา ซึ่งภาคราชการมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงต้องร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อม โดยเฉพาะด้านเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี ทำงานในลักษณะประชารัฐ เป็นแบบอย่างให้งานอื่นต่อไป “การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการร่วมมือแบบประชารัฐเน้นการปรับเปลี่ยนเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพสังคม โดยในช่วงที่ผ่านมางบประมาณด้านการวิจัยพัฒนาน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว จำเป็นต้องร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อม โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้เครื่องจักรกล และเทคโนโลยี เป็นการทำงานในลักษณะประชารัฐ ที่กระทรวงเกษตรฯ คาดหวังว่าจะเป็นแบบอย่างให้กับงานอื่นๆ ในอนาคตด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ สวก. และกลุ่มมิตรผล จะร่วมดำเนินการโครงการวิจัย ในช่วงแรก ระยะ 5 ปี จำนวน 3 โครงการ คือ 1. โครงการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียน และ บำรุงรักษาดิน งบประมาณ 5.4 ล้านบาท โดยพืชที่เลือกใช้ คือ ถั่วเหลือง เพราะตลาดมีความต้องการสูง แต่ผลผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าต่อปีในปริมาณที่มาก ปัจจุบันไทยมีความต้องการถั่วเหลืองโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านตัน แต่สามารถผลิตได้ในประเทศเฉลี่ยเพียงปีละ 50,000 ตันเท่านั้น ทั้งนี้ นำร่องในพื้นที่ 150 ไร่ ของ อำเภอชุมแพ และ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น จะทดลองปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 และ สจ.5 โดยเป็นการปลูกถั่วเหลืองโดยวิธีเกษตรสมัยใหม่ คือ ใช้เครื่องจักรกล เทคโนโลยี ทั้งช่วงต้นฤดูฝน และ ฤดูแล้ง ในพื้นที่แปลงนาข้าวซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับทำให้มีแนวทางการปลูกพืชก่อน และหลังนา โดยใช้เครื่องจักรกลที่มีอยู่เดิม รวมถึงทำให้การปลูกถั่วเหลืองก่อนและหลังนา มีต้นทุนลดลง ผลผลิตมากขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้นตรงความต้องการของผู้บริโภค เกษตรกรสามารถนำการวิจัยไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ได้ 2. โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ เป็นการส่งเสริมการทำการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะต้องไม่ใช้สารเคมีทำการเกษตร จึงต้องการวิจัยพัฒนาการป้องกันควบคุมแมลงศัตรูพืชที่ไม่ใช้สารเคมี โดยใช้วิธีธรรมชาติ และ นวัตกรรมอื่นๆ ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจะส่งผลให้มีสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ลดการนำเข้าสารเคมี และ3.โครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดิน เป็นการศึกษาวิธีการปรับปรุงคุณสมบัติของดิน ให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรในพื้นที่มีผลผลิตต่ำ โดยเน้นเป็นพื้นที่เฉพาะบริเวณ รวมทั้งการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดินในแต่ละพื้นที่อีกด้วย ผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ย และ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร นายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กล่าวว่า จากการที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและความร่วมมือพัฒนาการเกษตรตามนโนบายประชารัฐในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีมาพัฒนาภาคการเกษตร ส่งผลให้ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็นอย่างมาก ตรงต่อความต้องการของตลาด และลดต้นทุน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในภาคเกษตรกรอย่างครบวงจร ซึ่งความร่วมมือระหว่าง สวก. และกลุ่มมิตรผล มุ่งเน้นให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีการวิจัยการเกษตรเพื่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม นับเป็นการปฏิรูปภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และผลักดันให้นำผลงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในวงกว้าง ด้าน นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตร การลงนามข้อตกลงร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลครั้งนี้เป็นหนึ่งในภารกิจในการสนองตอบนโยบายภาครัฐ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะพัฒนาการวิจัยการเกษตร โดยมีแนวทางการร่วมกันพัฒนางานวิจัยด้านเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิผล ทั้งข้อมูล บุคลากร เทคโนโลยี วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ พื้นที่สำหรับดำเนินการโครงการ อีกทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะด้านการวิจัยการเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสบการณ์ด้านการวิจัยการเกษตรของไทย และผลักดันให้นำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงนโยบายและการพาณิชย์ให้มากที่สุด ด้วยคาดหวังว่าจะทำให้เกษตรกรไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ขณะที่ นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผล มีความยินดียิ่งที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อสร้างงานวิจัยและผลักดันให้นำผลงานวิจัยนั้นไปพัฒนาการเกษตรของไทยให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งเป็นการช่วยภาคเกษตรที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของประเทศ และเพื่อผลักดันภาคเกษตรในการสร้างรายได้ให้ประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ไม่ถึง 10% ของ GDP อีกทั้งเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี พ.ศ.2559-2564) ที่ระบุเป้าหมายให้พัฒนาภาคเกษตรให้ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี และด้วยปรัชญาการทำงานตลอด 60 ปีของกลุ่มมิตรผล “ร่วมอยู่...ร่วมเจริญ” ต่างฝ่ายต่างต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทุกคนก็จะอยู่และเจริญเติบโตไปด้วยกันได้