นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำงานวิจัยนวัตกรรมสู่เกษตรกร จึงมีการประชุมหารือร่วมกันกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการจัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)เป็นเจ้าภาพหลักในการประสาน เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่พร้อมใช้ถ่ายทอดไปยังเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรที่เหมาะสม รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต การแปรรูปและการตลาด ครอบคลุมผลิตผลทางการเกษตร พืช ปศุสัตว์และประมง เป้าหมายเกษตรกรไฮเทค 100,000 ราย ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 15,000 ราย และชุมชนเกษตรนวัตกรรม 235 ชุมชน ขับเคลื่อนผ่านกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรของสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี 5 เดือน ( พฤษภาคม 2560 – กันยายน 2564 ) นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ทั้งนี้ ปี 2560 ดำเนินการเปิดตัวโครงการฯ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ นำร่องพืชเศรษฐกิจที่ประสบปัญหามายาวนาน 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ลำไย มะม่วง พริก หอม กระเทียม เริ่มต้นที่ภาคกลาง จังหวัดชัยนาท ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ภาคใต้ จังหวัดตรัง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ ต่อจากนั้นจะกระจายเข้าพื้นที่จังหวัดเป้าหมายพืชทั้ง 7 ชนิด ด้วยการจัดสัมมนา อบรมเชิงปฏิบัติการ สาธิตเครื่องมือและอุปกรณ์ จับคู่เทคโนโลยี ระบบที่ปรึกษาเชิงลึก กระบวนการเรียนรู้สื่อออนไลน์ของศูนย์องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ห้องเรียนอาชีพเกษตรอัจฉริยะ ฯลฯ ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้เกษตรกร,กลุ่มเกษตรกรนำเสนอความต้องการรวมถึงแนวความคิดเทคโนโลยีที่ต้องการพัฒนาจากโจทย์ความต้องการที่แท้จริงด้วย โดยเสนอโครงการฯให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิจารณานำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป “ภาคการเกษตรนั้นเป็นหัวใจและกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน การพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรผ่านการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ นำไปประยุกต์ใช้ได้ตลอดห่วงโซ่ขั้นตอนการเกษตร อันเป็นการสร้างความยั่งยืนกับอาชีพเกษตรกรรมต่อไปในอนาคต” นายเสน่ห์ กล่าว