กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ริเคน (Riken Center for integrative Medical Sciences) ในการวิจัยด้านวัณโรคระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ SATREPS "Integrative human and pathogen genomic information for tuberculosis control" ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหาลักษณะทางพันธุกรรมของคนและเชื้อวัณโรค ช่วยให้วินิจฉัยรวดเร็วทำให้รู้ผลเชื้อวัณโรคดื้อยาได้ภายใน 2 วันจากเดิม 5 สัปดาห์ตามแบบมาตรฐานที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและสามารถให้ยาได้เหมาะสมแก้ปัญหาวัณโรคดื้อยา ศ.คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 120,000 ราย เสียชีวิตประมาณ 10,000 ราย และมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาอย่างน้อย 2,200 ราย กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้การยุติวัณโรคเป็นเป้าหมายสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ (ด้านสาธารณสุข) ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ปีละ 9,000 ราย โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและยาใหม่มาใช้ในการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมอย่างพอเพียงและยั่งยืน เร่งสร้างสิ่งใหม่ใช้การวิจัยเป็นหลักสำคัญในการดำเนินกลยุทธยุติวัณโรค ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการป้องกันและรักษาวัณโรค มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวและ Riken Center for integrative Medical Sciences ในการวิจัยด้านวัณโรคภายใต้โครงการ SATREPS "Integrative human and pathogen genomic information for tuberculosis control" เพื่อนำเทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์การแพทย์ มาใช้ตรวจหาลักษณะทางพันธุกรรมของคนและเชื้อวัณโรค ทำให้การวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้น สามารถเลือกใช้ยาและปรับขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น และลดการเกิดผลข้างเคียงจากยาต้านวัณโรค นายแพทย์สุขุม  กาญจนพิมาย  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีหัวหน้าคณะคือ แพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค จึงได้เดินทางเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยโตเกียวและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ริเคน ตลอดจนได้ศึกษาดูงานการผลิต การควบคุมคุณภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์วัคซีนบีซีจีสำหรับป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในเด็ก ณ Japan BCG Laboratory ช่วยให้ลดอุบัติการณ์การเกิดผลข้างเคียงภายหลังการได้รับวัคซีน และศึกษาดูงานการควบคุมวัณโรค ณ Research Institute of Tuberculosis และ Fukujuji Hospital และแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการควบคุมการระบาดของวัณโรคโดยเน้นการถ่ายภาพรังสีทรวงอก เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป้าหมาย เช่น ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเรื้อรัง นอกจากนี้ยังดูระบบหอดูแลผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนานตลอดจนระบบบันทึกข้อมูลการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวัณโรค เก็บเป็นข้อมูลสำหรับการสอบสวนโรคต่อไป "ประเทศญี่ปุ่นมาตรการสำคัญในการควบคุมวัณโรคคือการกำหนดให้วัณโรคเป็นโรคติดต่อตามกฎหมาย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลจนกว่าตรวจไม่พบเชื้อวัณโรคในเสมหะ โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 2-3 เดือน ดังนั้นการมีระบบการรักษาที่ใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางการควบคุมวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีมารองรับการตรววินิจฉัยและรักษาร่วมกับการบังคับมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด เป็นปัจจัยหลักทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่ลดอุบัติการณ์วัณโรคอย่างรวดเร็วมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งการศึกษาและสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ริเคนในครั้งนี้เป็นแนวทางสำคัญของประเทศไทยที่จะเอาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มาใช้ในการพัฒนาการควบคุมวัณโรค ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถยุติปัญหาวัณโรคและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ในภาคพื้นอาเซียน" นายแพทย์สุขุมกล่าว