กรมวิชาการเกษตร ยืนยันผลวิเคราะห์ดินและน้ำในแหล่งปลูกกล้วยหอมนักลงทุนจีนปลอดสารเคมีตกค้าง ไม่ได้ใช้สารเคมีต้องห้าม ยังปลูกพืชอื่นได้ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงกรณีมีข่าวว่าพื้นที่อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กำลังประสบปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีจากสวนกล้วยของนักลงทุนจีนซึ่งใช้สารเคมีในปริมาณสูงส่งผลกระทบให้พื้นดินดังกล่าวไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นๆ ได้ และมีการใช้สารเคมีบางชนิดที่ประเทศไทยห้ามใช้นั้น ได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว พบว่า การปลูกกล้วยหอมของนักลงทุนจีนพบที่อำเภอพญาเม็งรายเพียงแห่งเดียว ส่วนในอีก 3 อำเภอไม่พบการปลูกกล้วยหอมของจีนตามที่เป็นข่าว อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ทั้งนี้ ภายในสวนปลูกกล้วยหอมของจีนจากการตรวจสอบพบว่ามีการบริหารจัดการสวนกล้วยหอมในลักษณะ Contract Faming และทำสัญญาเช่าที่ดินเป็นรายปี มีการปฏิบัติดูแลโดยมีผู้จัดการสวนชาวจีนเป็นผู้กำกับดูแลการเบิกจ่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร มีการจ้างแรงงานในการเพาะปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว และบรรจุหีบห่อ โดยการปลูกกล้วยหอมของนักลงทุนชาวจีนมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ สารเคมี ฟิโปรนิ เพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูที่เข้าทำลายหน่อกล้วยหอม สารกำจัดวัชพืชพาราคลอตไตคลอไรด์ สารเคมีไซเปอร์เมทริน กำจัดแมลงศัตรูกล้วยหอมหลังปลูก และสารเคมีโปรคลอราช ป้องกันกำจัดโรคศัตรูกล้วยหอมที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งสารเคมีดังกล่าวเป็นสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ได้ หลังจากเริ่มปลูกประมาณ 9–10 เดือน จึงจะได้ผลผลิตและส่งไปจำหน่ายที่จีนทั้งหมด โดยมีผู้ซื้อชาวจีนมาซื้อถึงสวน ส่วนผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพจะใช้วิธีการกำจัดโดยการฝังกลบ หรือให้คนงานนำไปจำหน่ายได้ "จากการที่เจ้าหน้าที่ได้สุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างในดิน น้ำ พืช ผลการวิเคราะห์ไม่พบสารพิษตกค้างแต่อย่างใด ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวจึงสามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้" นายสุวิทย์ กล่าว