สำหรับชาวนาที่ทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษอย่าง สมพงค์ ขันคำ และครอบครัวแล้ว เงินจำนวน 1,500,000 บาท จากการขายที่ดินสวนยาง 20 ไร่ ถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่มาก เมื่อได้เงินมาก็คิดอยากนำไปซื้อหาสิ่งของต่างๆ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ครอบครัวขันคำอยากได้มานาน แต่เงินจำนวนนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้กับสิ่งของฟุ่มเฟือยอย่างที่ว่า พวกเขาตัดสินใจนำเงินไปสร้างฟาร์มเลี้ยงหมูขุน เพื่อให้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ของครอบครัว “ก่อนจะขายที่สวนยางเคยมีสัตวบาลของซีพีเอฟมาพูดคุยกับครอบครัวเรา แนะนำว่ากำลังขยายโครงการเลี้ยงหมูขุนในอำเภอสว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี บอกอย่างละเอียดว่าต้องทำอะไร มีรายจ่ายเท่าไหร่ และ รายได้ที่จะได้รับเป็นอย่างไร ตอนนั้นเราแค่ฟังไว้เป็นข้อมูลแต่ยังไม่กล้าลงทุนเพราะเราเคยแต่ทำนา ไม่เคยเลี้ยงสัตว์มาก่อน ทิ้งระยะเวลามาเกือบปีจนขายสวนยางได้เงินจำนวนนี้มา ตอนแรกอยากเก็บไว้ก่อนกับเอาไปซื้อของที่อยากได้ แต่สุดท้ายเราก็มานึกถึงอาชีพเลี้ยงหมูและมองว่าถ้าเป็นอาชีพเราจะมีเงินมากกว่านี้ จึงกลับไปปรึกษากับทางซีพีเอฟอีกครั้ง” สมพงค์ บอกถึงการหันเหชีวิตจากชาวนามาเป็นคนเลี้ยงหมู กับโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อย หรือโครงการฝากเลี้ยงกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ หลังจากที่ได้ศึกษาอย่างจริงจังถึงระบบคอนแทรคฟาร์ม สมพงค์ พบว่าเป็นระบบที่ดี มีบริษัทคอยสนับสนุน และความเสี่ยงเรื่องตลาดยังเป็นศูนย์ เพราะบริษัทเป็นตลาดรองรับให้ เมื่อเห็นแบบนี้ จึงตัดสินใจทำฟาร์มหมูทันที ด้วยเงินสดที่มีอยู่ไม่ได้กู้ยืมใคร ในปี 2555 โดยแบ่งที่ดินบางส่วนบนที่นา 12 ไร่ของครอบครัวขันคำ ที่ตำบลแก่งโดม อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสร้าง “สายทองฟาร์ม” เลี้ยงหมูขุนในโรงเรือนปิดที่สามารถปรับอากาศภายในได้เหมือนหมูนอนในห้องแอร์เย็นๆตลอดเวลา ที่เรียกว่าโรงเรือนอีแวปตามมาตรฐานของบริษัท ความจุหมู 600 ตัว โดยมีพ่อสมพงค์และ สายทอง ขันคำ ผู้เป็นบุตรสาว เป็นกำลังหลัก และมีน้องชายมาช่วยเลี้ยงหมูด้วย สายทอง เล่าว่า ก่อนจะเริ่มเอาหมูเข้าเลี้ยงสัตวบาลของซีพีเอฟพาไปศึกษาดูงานการเลี้ยงจากเกษตรกรรุ่นพี่ที่ทำฟาร์มมาก่อน เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละวันเกษตรกรจะต้องทำอะไรบ้าง รุ่นพี่มีประสบการก็จะถ่ายทอดเทคนิค วิธีการที่ถูกต้อง รวมทั้งยังได้ร่วมอบรมพื้นฐานการเลี้ยงร่วมกับเพื่อนเกษตรกรรุ่นใหม่ๆหลายคน หลังจากเริ่มรับหมูเข้าเลี้ยงทางสัตวบาลก็เข้ามาช่วยดูแลแนะนำการเลี้ยงตลอดระยะเวลากว่า 5-6 เดือนจนกระทั่งจับหมูออกขายได้ “แค่เพียงรุ่นแรกที่เลี้ยงหมู เราเห็นถึงอนาคตที่ดีในอาชีพ เพราะเลี้ยงหมูไม่ยุ่งยาก การดูแลมีวิธีการที่เราสามารถทำได้ เรียนรู้เทคนิคได้ เวลาทำงานก็เย็นสบายเพราะโรงเรือนปรับอากาศได้ ไม่เหนื่อยเหมือนทำนา เลี้ยงหมูรุ่นแรกมีรายได้หลังหักค่าไฟ ค่าใช่จ่ายอื่น มีเงินประมาณ 2 แสนบาท ก็ดีใจมาก คือได้อย่างที่เราตั้งใจไว้ เพราะหมูโตดี เสียหายน้อย รายได้ก็มากตามไปด้วย จึงตัดสินใจขึ้นฟาร์มใหม่ “สมพงค์ฟาร์ม” บนที่ดินผืนเดียวกัน คราวนี้กู้เงินมาสร้าง และอีก 2 ปีก็จ่ายคืนธนาคารครบแล้ว ตอนนี้ญาติๆที่เคยค้านเราในตอนแรกเพราะกลัวจะทำไม่ได้ และกลัวไม่สำเร็จอย่างที่บริษัทมาแนะนำ เขาเห็นความสำเร็จของเราก็มาเลี้ยงในกลุ่มเดียวกัน 6 รายแล้ว เราดีใจที่มีส่วนทำให้ญาติๆมีอยู่มีกินดีขึ้นกว่าเดิม” สายทอง บอก เมื่อถามถึงเคล็ดลับการเลี้ยงหมูให้ประสบความสำเร็จ สายทอง บอกว่า ยึดหลักการพื้นฐานการเลี้ยงหมู อย่างที่บริษัทแนะนำ ในเรื่อง 5 หัวใจการเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่การมีพันธุ์หมูที่ดี การใช้อาหารทีมีโภชนาการเหมาะสมกับหมูแต่ละช่วงอายุ การเลี้ยงในโรงเรือนอีแวปที่ปรับอากาศได้ทำให้หมูอยู่สบาย จึงไม่เครียด ไม่ป่วย และไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา เพียงใส่ใจกับการทำวัคซีนตามที่สัตวแพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด ประกอบกับการมีระบบการเลี้ยงที่ดีมีมาตรฐาน ที่สำคัญคือการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดห้ามไม่ให้คนหรือรถจากภายนอกเข้าฟาร์มอย่างเด็ดขาด และการเลี้ยงของที่นี่ยังเน้นการดูแลหมูช่วงเล็กๆอย่างดีที่สุด โดยต้องดูเรื่องความอบอุ่น สังเกตการนอนของหมูที่ต้องนอนกระจายตัวไม่นอนสุม ควบคุมการระบายอากาศให้ดี โรงเรือนและคอกเลี้ยงสะอาดไม่มีฝุ่น นอกจากการจะใส่ใจกับเลี้ยงหมูอย่างดีแล้วเรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกส่วนที่ฟาร์มแห่งนี้ให้ความสำคัญ เพื่อให้ฟาร์มอยู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ระบบไบโอแก๊สเพื่อบำบัดน้ำและของเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลี้ยง ทำให้ได้ทั้งก๊าซมีเทนสำหรับนำมาปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าได้มากถึงกว่า 40% และยังช่วยลดกลิ่น แมลง และฝุ่นละอองได้เป็นอย่างดี และสายทองยังปลูกต้นไม้ไว้หลังโรงเรือนเพื่อช่วยดูดซับกลิ่นอีกขั้นหนึ่งด้วย “วันนี้เราสรุปได้เลยว่าการเลือกมาทำฟาร์มหมูในระบบคอนแทรคฟาร์ม เป็นการเลือกที่ถูกต้อง และไม่มีความเสี่ยงอย่างที่คนอื่นเคยทักท้วงเรา ถ้าวันนั้นเราเอาเงินไปซื้อรถเราก็จะมีแค่รถ แต่ปัจจุบันเรามีรถจากเงินเลี้ยงหมู เรามีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ทั้งจากการเลี้ยงหมู การขายขี้หมูตากแห้งหลังจากการบำบัดในระบบไบโอแก๊สปีละเกือบ 3 หมื่นบาท เราทำนาโดยใช้ขี้หมูนี้เป็นปุ๋ยช่วยลดต้นทุนได้อีก และดีใจที่ได้เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ถ่ายทอดความสำเร็จและเคล็ดลับให้เพื่อนเกษตรกรรุ่นใหม่ๆได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะกับฟาร์มของตัวเอง เพื่อช่วยกันผลิตหมูมีมาตรฐานปลอดสาร ปลอดภัย” สายทอง สรุปอย่างภูมิใจถึงความสำเร็จของ “สายทองฟาร์ม” และ “สมพงค์ฟาร์ม” ถือเป็นการจุดประกายให้กับคนที่ต้องการมีอาชีพที่มั่นคงบนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจที่มีมาตรฐาน ซึ่งผลที่สุดแล้วคนที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือผู้บริโภคและเกษตรกรเอง