เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มตัว สิ่งสำคัญที่จะมองข้ามไปไม่ได้ นั่นคือ การพัฒนากำลังคนของประเทศ เพราะถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับ “โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่” ที่ดำเนินงานโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กซ์ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สนับสนุนโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกันบ่มเพาะเยาวชนไอที ที่มาจากเวทีการประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทยให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นนักพัฒนาผลงานด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เข้าถึง เข้าใจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้จริง โดยปีนี้มีผลงานของเยาวชนที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 26 ทีม จากผลงานทั่วประเทศ โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ จึงได้เสริมศักยภาพ 5 เรื่องหลักในการพัฒนาต่อยอดผลงานของเยาวชนไอที ได้แก่ เรื่องที่ 1. “การรู้จักตนเอง และเชื่อมโยงตัวเองกับสังคม” เรื่องนี้ต้องการให้เยาวชนไอทีค้นหา และสำรวจผลงานของตนเอง ดูว่างานที่ทำมันไปเชื่อมโยงกับชีวิตคนในสังคมอย่างไร ฝึกวิเคราะห์เชื่อมโยงตัวเองกับสังคม เพื่อให้ได้โจทย์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมาใช้ในการพัฒนาผลงาน เรื่องที่ 2. “การวิเคราะห์ผู้ใช้งาน” หัวข้อนี้ได้ออกแบบให้เยาวชนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมจำลองการสัมภาษณ์ CEO มุ่งให้เยาวชนได้ทำความเข้าใจผู้ใช้งานจริงโดยฝึกให้เยาวชนรู้จักเก็บข้อมูลจากการตั้งคำถาม และการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง User Experience (UX) / User Interface (UI) ที่อยากให้ผู้เรียนลองออกแบบผลิตภัณฑ์โดยยึดจากประสบการณ์ของผู้ใช้มาช่วยออกแบบกระบวนการวิจัย หรือผลิต รวมไปถึงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่คนเห็นแล้วเข้าใจง่าย หรือเมื่อได้ลองใช้แล้วรู้สึกประทับใจ เรื่องที่ 3. “การพัฒนาผลงานที่มีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์” คือ ให้เยาวชนฝึกวิเคราะห์ปัญหา และค้นหาเทคโนโลยีมาใช้กับผลงานของตนที่มีความแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งสิ่งนั้นต้องมีคุณค่ากับตนเองและสังคม เรื่องที่ 4. “การสร้างแบรนด์ให้โดนใจ” หัวข้อนี้ต้องการให้เยาวชนเกิดทักษะในการสร้างแบรนด์ที่มีความแตกต่าง และเข้าใจเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำกับสินค้าหรือผลงานชิ้นนั้นได้ เรื่องที่ 5. “เทคนิคการนำเสนองานอย่างมืออาชีพ” เรื่องนี้มุ่งเน้นให้เยาวชนไอทีเกิดทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทั้งต่อทีมและต่อสาธารณะโดยฝึกการพูดการนำเสนอผลงานให้น่าดึงดูดความสนใจ พี - ภาดา โพธิ์สอาด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การมาเข้าค่ายครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ทำให้หนูได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เพิ่มเติมทักษะและประสบการณ์บางอย่างที่เคยเรียนมาให้เข้าใจมากขึ้น อย่างเช่น ในคลาสของ UI /UX เป็นบรรยายกาศที่ให้ทั้งความสนุก ทำให้เรามองเห็นในมุมของ User มากขึ้น หรือการวางแผนในการพัฒนาผลงานของเราให้ทันในเวลาที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งมันดีกว่าการนั่งฟัง หรืออ่านจากหนังสือ ได้พูดคุยกับทีมอื่นๆ ได้เห็นมุมมองใหม่จากคนอื่นเพื่อนำไปพัฒนาผลงานของเรา หนูจึงคิดว่าค่ายนี้เป็นค่ายที่ให้ทั้งความรู้ และโอกาสสำหรับคนที่มี Passion มีฝันอยากทำผลงานไปสู่ผู้ใช้จริงได้” อีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่แบ่งปันพื้นที่แห่งการเรียนรู้และติดอาวุธทางปัญญาสำหรับ “นักสร้างสรรค์นวัตกรรม และเทคโนโลยีรุ่นใหม่” ที่มีใจพร้อมที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาช่วยพัฒนาให้กับชุมชนและสังคม - ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ : [email protected]