ทำอย่างไร จะพูดได้เต็มปากว่า “เรารักในหลวง”(2) สมเด็จพระพุทธาจารย์(ป.อ.ปยุตโต) จากถิ่นนี้ ไปถิ่นนั้น จากภาคนั้นไปภาคโน้น ทั่วทั้งประเทศ ทรงเพียรพยายามจะให้ราษฎรมีถิ่นอาศัยที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีแหล่งน้ำกินน้ำใช้ไม่แห้งแล้ง ยามฝนแล้ง ขาดแคลนน้ำ ก็พระราชทานฝนหลวง ยามน้ำหลากไหลท่วมมา มีปริมาณเกินไป ก็ทรงนำทรงแนะให้รู้จักแบ่งระบายน้ำนั้น ดังที่ได้รู้จักกันในเรื่องการทำแก้มลิง ส่วนในที่น้ำท่วมน้ำไหล น้ำเก็บไม่ได้ เก็บไม่อยู่ ก็ทรงสำรวจตรวจดูและทรงนำทางแก้ปัญหาในทุกประการ แม้กระทั่งว่า เมื่อน้ำมากน้ำนองไหลหลั่งท่วมท้น แผ่นดินจะทรุดหรืออาจถล่มพังไป ก็ได้ทรงพระราชดำริคิดค้นทดลอง ทรงนำและทรงแนะนำชาวบ้านราษฎรให้รู้จักปลูกพืชที่จะได้อาศัยต้น อาศัยรากรักษาดิน เช่นการปลูกหญ้าแฝกยึดหน้าดินไว้ ทรงทำทุกอย่างทุกประการอันเกี่ยวข้องกับการที่จะให้ประชาชนชาวถิ่นชาวบ้านมีชีวิตอยู่ผาสุก สะดวกสบายดี ที่จะเป็นอยู่กินอยู่ได้อย่างพอเพียง ในชนบท และถิ่นห่างไกล ที่เสด็จฯไป นอกจากการทรงงานต่าง ๆ แล้ว ก็ได้ทรงพบปะเยี่ยมเยือน ทรงไถ่ถามสุขทุกข์ของราษฎร โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้ชรา เป็นที่ชื่นจิตชูใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณากับทั้งในถิ่นไกลเช่นนั้น ก็ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยือน ทรงสนทนาธรรม กับพระเถระ หลวงปู่ หลวงตา ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน นอกจากเป็นพระราชอัธยาศัยที่ทรงใฝ่ธรรมแล้ว ก็เป็นการที่ได้ทรงทราบความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อถือ และความเป็นอยู่ของชาวบ้านในถิ่นนั้นๆ พร้อมกันไป มิใช่เฉพาะในชนบทและถิ่นห่างไกลปลายแดนเท่านั้น ที่ทรงแผ่พระมหากรุณาธิคุณไปทั่วถึง แม้ในเมืองหลวงและกลางกรุง ก็มิได้ทรงทอดทิ้ง ดังที่ได้ทรงเป็นต้นพระราชดำริบ้าง ทรงแนะนำบ้าง ในการสร้าง การเสริม ดูแลจัดสรรถนนหนทาง ในกาลสมัยที่สำคัญ ก็ทรงนำให้เกิดมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยาวสูงใหญ่ เชื่อมถิ่นที่สำคัญ ให้เดินทางกันได้โดยสะดวก แม้ในวาระที่รัฐบาลกราบบังคมทูลว่า จะขอสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวาย พระองค์ก็ได้รับสั่งให้สร้างถนนเป็นหนทางสัญจรของประชาชนแทน เป็นอีกเหตุหนึ่งซึ่งทำให้เกิดมีถนนเพิ่มขึ้นมา ดังที่ชาวประชาสัญจรกันอยู่ในบัดนี้ มีบาลีภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าแสดงไว้ ว่าด้วยการปกครองบ้านเมืองว่า “อุปสฺสุติ์ มหาราช รฎฺเฐ ชนปเท จร” ดังนี้เป็นต้น แปลความว่า ขอองค์พระมหาราช ทรงดำเนินเสด็จเที่ยวสดับดูความเป็นอยู่ ความเป็นไป ในแว่นแคว้นแดนชนบท ครั้นได้เห็นได้ฟังแล้ว จึงปฏิบัติราชกิจนั้นๆ พระเจ้าอโศกมหาราช พระมหาธรรมราชายิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา ผู้ได้ทรงส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระพุทธศาสนา 9 สาย รวมทั้งที่มาถึงสุวรรณภูมิดินแดนที่ตั้งของประเทศไทยด้วยนั้น ได้ทรงประกาศไว้ในศิลาจารึกของพระองค์ที่ชมพูทวีป เมื่อ 2,300 ปี ก่อนโน้น ในจารึกศิลา ฉบับที่ 8 มีความว่า ตลอดกาลยาวนานที่ล่วงไปแล้ว พระราชาทั้งหลายได้เสด็จฯไปในการวิหารยาตรา คือการท่องเที่ยวหาความสำคัญ เช่น มีการล่าสัตว์ และการแสวงหาความสนุกสนานบันเทิงต่างๆ ครั้นถึงสมัยของพระองค์ (คือพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น) ได้ทรงริเริ่มใหม่คือ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 10 พรรษา ได้เสด็จฯไปสู่สัมโพธิ (ที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปัจจุบันเรียกว่าพุทธคยา) จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงเกิดมีธรรมยาตราขึ้น ในการธรรมยาตรานั้น ย่อมมีกิจดังต่อไปนี้ คือ การเยี่ยมเยียนพระสงฆ์สมณพราหมณ์ และถวายทานแด่ท่านเหล่านั้น การเยี่ยมเยือนท่านผู้เฒ่า ผู้สูงอายุ และพระราชทานเงินทองช่วยเหลือ การเยื่ยมเยืยนราษฎรในชนบท การสั่งสอนธรรมและซักถามปัญหาธรรมแก่กัน พระพุทธพจน์ข้างบนนั้น ก็ตาม พระจริยาวัตรของพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ ก็ดี สำแดงความว่า สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชจริยาวัตรแห่งองค์พระมหาราช ในหลักธรรม และในประวัติศาตร์แห่งพระพุทธศาสนา ที่มวลราษฎรพึงชื่นชมยินดี และเหล่าพุทธบริษัทพึงปีติปลื้มปรีดา อนึ่ง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่มีประกาศพระปฐมบรมราชโองการ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชร์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นั้น มีประเพณีที่ให้กล่าวอ้างอิงหลักธรรมที่พระสัมมา สัทพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้สำหรับการปกครองแผ่นดิน 4 หมวดคือ 1.ทศพิธราชธรรม ธรรมประจำพระองค์ของพระราชา 10 ประการ ที่เอ่ยอ้างกันอยู่เป็นประจำ 2.ขัตติยพละ พระกำลังของพระมหากษัตริย์ 5 ประการ 3.จักรวรรดิวัตร พระราชจริยาวัตรขององค์จักพรรดิราช ที่ทรงบำเพ็ญปฏิบัติเป็นหน้าที่ประจำ 12 ประการ และ 4.ราชสังคหวัตถุ หลักการที่องค์พระราชาทรงสงเคราะห์รวมใจประชาชน 4 ประการ สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเจริญพระคุณสมบัติ ทรงมีพระราชจริยวัตร และทรงบำเพ็ญระราชกรณียกิจ เป็นไปตามหลักธรรมของพระองค์ผู้ทรงครองแผ่นดิน ทั้ง 4 หมวด 31 ประการ ที่อ้างถึงนั้น จำเพาะที่กล่าว ณ ที่นี้ เน้นในหลัก ราชสังคหวัตถุ 4 ประการอันมี 1.สัสสเมธัง ทรงพระปรีชาสามารถฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ข้อนี้คงเป็นงานเด่นที่ทรงเน้นมาก เนื่องด้วยความเหมาะควรกับสภาพของแผ่นดินนี้ และวิถีทางของประเทศชาติสังคมไทย 2.ปุริสเมธัง ทรงพระปรีชาสามารถฉลาดในการบำรุงข้าราชการ ทั้งทหารและพลเรือน ส่งเสริมคนดี ผู้มั่นคงในกิจหน้าที่ ให้ประชาชนมีความมั่นใจ 3.สัมมาปาสัง ทรงพระปรีชาสามารถฉลาดในการผูกผสานรวมใจประชาชน ด้วยการส่งเสริมสัมมาชีพ เช่นช่วยให้คนตั้งตัวได้ และ 4.วาชไปยัง ทรงมีวาจาดูดดื่มใจ ตรัสปราศรัยอำนวยธรรม อำนวยปัญญา ดังมีพระบรมราโชวาทมากมาย อันแสดงถึงพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะคนหมู่เหล่าต่างๆ ที่จะพึงใส่ใจปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างจริงจังสุจริต และให้สัมฤทธิ์ผลดี ตลอดจนการพัฒนาชีวิตของตนๆ ทั่วทุกตัวบุคคล สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีพระราชจริยวัตรที่ดำเนินตามธรรมอย่างงามสง่า และทรงบำเพ็ยพระราชกิจกรณีย์เพื่อประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ โดยทรงคำนึงห่วงใยไม่ว่างเว้นเวลา ทรงเสียสละอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก เอาพระทัยใส่ในการแก้ปัญหาบำบัดทุกข์บำรุงสุขของทวยราษฎร์ ทุกถิ่นทุกที่ ทุกหมู่เหล่า ดังกล่าวมาฉะนี้ ประชาชนชาวไทยได้รู้เห็นเป็นประจักาอย่างสม่ำเสมอตลอดกาลเวลานานแสนนาน ความจงรักภักดีและซาบซึ้งในพระคุณแห่งพระมหากรุณา และภาพแห่งพระราชจริยวัตรที่งดงามนั้น จึงสนิทติดตรึงตราอย่างลึกซึ้งเปี่ยมดวงใจ เมื่อถึงคราเสด็จสวรรคตจากไป จึงพากันเศร้าโศกอาลัย ร่ำไห้ปริเทวนาการ และพากันหาทางแสดงออกซึ่งน้ำใจที่มีสำนึกแห่งกตัญญุตาธรรม คือ ความกตัญญู ด้วยประการต่าง ๆ หลากหลาย มากมาย พระคุณในพระองค์สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนี้ มิใช่แต่ประชาชนชาวไทยเท่านยั้น ที่สำนึกรำลึกและมีความซาบซึ้งเชิดชู ดังปรากฏชัด เมื่อข่าวการเสด็จสวรรคตแพร่ออกไป พระราชามหากษัตริย์และผู้นำในนานาประเทศ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวคำสำนึกรำลึกเชิดชูพระคุณความดี เป็นกรณีโดดเด่น อย่างยากจะหาที่ไหนปรากฏมี บางพระองค์ถึงทรงเทิดทูนถือเป็นแบบอย่าง เป็นเกียรติยศของประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั่วกัน สมดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้สั้นๆ ว่า “ราชา รฏฺฐสฺส ปญฺญาณํ” อันแปลว่า “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” ด้วยอำนาจแห่งพระคุณที่ได้ทรงบำเพ็ญ พระบรมฉายาลักษณ์แห่งพระองค์สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในเครื่องทรงอันงามสง่าขององค์พระมหากษัริย์นั้น จึงมิใช่มีความหมายเพียงเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นพระราชาตามพระราชอำนาจราชศักดิ์แล้วจบไปเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อไปยังพระคุณที่แผ่ไพศาล ตลอดทั่วทั้งแผ่นดินไทย คนไทยชาวบ้านเมื่อชมหรือมองดูพระบรมฉายาลักษณ์ในใจก็สามารถนึกโยงออกไปให้มองเห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงของตน ที่ทรงรอนแรมเสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎร และทรงงานในท้องถิ่นทั้งหลายทั่วไปทั้งใกล้และไกล เมื่อตามองพระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่เบื้องหน้า ในใจจึงอาจเห็นขยายออกไปเป็นภาพที่ปรากฎพระองค์ในทุกถิ่นที่ทั่วทั้งประเทศ สมพระนามแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทย อีกทั้ง พร้อมกันนั้น ก็สมกับความที่ได้ทรงสละพระองค์โดยทรงใช้พระกำลัง ทั้งกำลังพระวรกาย กำลังพระราชหฤทัย พระราชดำริ และกำลังพระปรีชาญาณ ในการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนทั่วแผ่นดินไทย ทรงเป็นพลังแห่งแผ่นดิน คือพลังที่สร้างสรรค์แผ่นดิน อันเป็นถิ่นที่ตั้ง เป็นหลักแหล่งที่อาศัย ของประเทศชาติ และประชาชนสมตามพระปรมาภิไธยว่า “ “ภูมิพล