ทำอย่างไร จะพูดได้เต็มปากว่า “เรารักในหลวง”(3) สมเด็จพระพุทธาจารย์(ป.อ.ปยุตโต) สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระคุณเปี่ยมล้น ดังได้ยกส่วนหนึ่งมาพรรรณนา ประชาชนชาวไทย ในหมู่พวกของตน จึงได้ซาบซึ้งประจักษ์ใจและจงรักหนักแน่นตรึงตรา และในระดับสากล เมื่อมองกว้างออกไป ก็มีความภูมิใจ ที่องค์พระราชาของตน ทรงเป็นที่ชื่นชมยกย่องเชิดชูกว้างไกลในนานาประเทศ ความมีใจจงรักซาบซึ้งเชิดชูบูชาพระคุณ ที่เป็นไปในมวลประชาภายใน ก็ดี ความภูมิใจต่อเสียงแสดงความชื่นชมนิยมนับถือจากสากล ที่รายล้อมข้างนอก ก็ดี เป็นความสุขความภาคภูมิใจ ซึ่งผ่อนเบาความโศกเศร้าลงไปได้บ้าง แต่อย่างไรก็ดี ความชื่นใจ ความภูมิใจทั้งหมดนี้ แม้จะเป็นคุณความดีที่มีค่าสูง ก็รวมอยู่ในระดับของจิตใจ ในการปฏิบัติต่อพระคุณของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คนไทยไม่ควรพอใจอยู่เพียงเท่านั้น แต่ควรก้าวต่อขึ้นไป ให้ถึงขั้นของปัญญา และการกระทำ ในขั้นของปัญญานั้น คือการที่จะรู้เข้าใจ ตระหนักในคุณค่า เหตุผล และความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ ของพระคุณความดีงามทั้งหลาย โดยสำนึกรู้ว่า พระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญทั้งหมดทั้งปวงนั้น ก็ด้วยทรงมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหา ปลดเปลื้องทุกข์ภัยของประชาชน ให้พ้นจากความลำบากเดือดร้อน เช่นความยากไร้ขาดแคลน ให้มีอยู่มีกินมีความสุข รวมแล้วก็คือเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน ตามพระราชปณิธานที่เป็นหลักเป็นแกนนั่นเอง จากปัญญา ที่รู้เข้าใจคุณค่า เหตุผล และความมุ่งหมายแล้วก็ต้องขึ้นไปสู่ปัญญาที่จะได้ร่วมปฏิบัติจัดทำดำเนินการเพื่อให้เป็นไปจนลุถึงจุดหมาย กล่าวคือ เมื่อรู้เข้าใจตระหนักในคุณค่าและความมุ่งหมายอย่างนี้แล้ว ก็มาร่วมจิตตั้งใจที่จะทำที่จะปฏิบัติในส่วนของตนๆ อันจะออกผลรวมร่วมกัน ให้สัมฤทธิ์ผลสมความมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ และสัมฤทธิ์ผลให้เกิดมีประโยชน์สุขเป็นจริงขึ้นมา พระราชาปณิธานเพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาชาวสยามนั้น เป็นความมุ่งหมายรวมอันเป็นหลักใหญ่ หรือเป็นแกน ของการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจโดยรวม ทั่วทั้งหมดทั้งสิ้น แต่พระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้นแยกย่อยเป็นแต่ละงานแต่ละรายการ กระจายออกไป ดังที่จัดตั้งเป็นโครงการพระราชดำริ ซึ่งมีมากมายทั่วประเทศ นับกว่าเกินกว่า 4,000 โครงการ ปัญญาของประชาชนที่ตระหนักรู้ ดังกล่าวนั้น จึงหมายถึงการที่ชุมชนนั้นๆ ถิ่นที่นั้นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำรินั้นๆ อันเป็นที่ซึ่งจะได้รับประโยชน์ตามความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของโครงการ จะต้องตระหนัก รู้จัก เข้าใจ เหตุผล คุณค่า ประโยชน์ ความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของโครงการนั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับตนเอง และพึงร่วมทำงาน ทำหน้าที่ และปฏิบัติการ ที่จะให้โครงการหรืองานนั้นสำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการพระราชดำรินั้น ที่เกี่ยวเนื่องกับตน จนกว่าสัมฤทธิ์ผลตามจุดหมายของโครงการ จากนั้น อีกด้านหนึ่ง เพื่อให้การปฏิบัติจัดดำเนินการทั้งหลาย เป็นเรื่องของการทำได้ ทำเป็น ทำถูกต้อง เป็นจริง ผู้ที่ปฏิบัติ ก็ต้องมีคุณสมบัติอันให้พร้อมที่จะปฏิบัติได้ และทำได้ดี ทำได้ถูกต้องด้วย ประชาชนจึงควรสำรวจตรวจสอบพิจาณาและพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติที่จะเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ตั้งแต่มีกำลังความตั้งใจช่วยเหลือร่วมมือ กำลังความเพียรพยายามกำลังความรู้ความสามารถ ที่พร้อมจะร่วมทำงาน ร่วมดูแลรักษา ร่วมใช้ร่วมได้ประโยชน์จากโครงการหรือกิจการงานนั้นๆ สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีพระพุทธศาสนาในหมวดแห่งชาดก ชื่อเรื่อง “พระมหาชนก” อันว่าด้วยการบำเพ็ญพระวิริยบารมี ของพระโพธิสัตว์ ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” นี้ นำให้เห็นชัดว่าพระองค์ทรงถือเป็นสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเป็นคนมีความพากเพียร พยายามมุ่งหน้าทำการให้สำเร็จ ไม่ยอมระย่อท้อถอย พระมหาชนกนั้นตรัสแสดงคติธรรมไว้ว่า การงานใดไม่ทำให้จบสิ้นไปด้วยความพากเพียร ก็ไร้ผล เป็นคน ก็ควรพยายามเรื่อยไป ไม่ยอมท้อแท้ คนไทย เมื่อรักในหลวง ก็ควรพัฒนาตนให้มีคุณสมบัติเช่นความเพียรพยายามนี้ ให้สมดังที่ได้ทรงหวัง ได้ทรงสั่งสอนไว้