เมื่อ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นความสำคัญของภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน จึงได้ติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ในศูนย์การค้า ใจกลางกรุงเทพฯ สยามสแควร์ ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน จัตุรัสจามจุรี และตลาดสามย่าน เพื่อให้ บริการในกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ใช้บริการที่อาจเกิดอาการภาวะโรคหัวใจ ในเรื่องนี้ นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน จัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ได้ทำการติดตั้งเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าอัตโนมัติ จำนวน 5 เครื่อง บริเวณศูนย์การค้า สยามสแควร์ จำนวน 1 เครื่องศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน จำนวน 1 เครื่อง อาคารจัตุรัสจามจุรี จำนวน 2 เครื่อง และ ตลาดสามย่าน จำนวน 1 เครื่อง ให้บริการในกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ใช้บริการที่อาจเกิดอาการภาวะโรคหัวใจ หรือ หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ซึ่งหากช่วยเหลือไม่ทันอาการดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะสมองตาย หรือ เสียชีวิตอย่างกะทันหันได้ ทั้งนี้ ย่านการค้าของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เป็นพื้นที่ใจกลางเมือง มีประชาชนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุได้ทุกเวลา รวมทั้งด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมากประชาชนอาจมีความเสี่ยงจากโรคเกี่ยวกับทางเดินหายในและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โดยผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บอาจมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย หรือบางรายอาจมีภาวะหยุดหายใจกะทันหัน ถ้าปล่อยไว้นานเกิน 4 นาที แม้จะช่วยให้ฟื้นคืนชีพกลับมาได้ ก็อาจเกิดสภาวะการตายของสมองอย่างถาวร ดังนั้นการได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างทันท่วงที ที่ถูกต้อง และมีการส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บต่อไปยังแพทย์หรือสถานพยาบาลอย่างเหมาะสม รวดเร็ว และถูกวิธี จะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตกลับคืนมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ พร้อมกันนี้ยังร่วมกับศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มทักษะและให้ความรู้ด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้สามารถช่วยเหลือตนเองและบุคคลใกล้ตัวได้อย่างปลอดภัยก่อนนำส่งโรงพยาบาลอีกด้วย