สำหรับสัปดาห์นี้หลังจาก 'กนก กนธี' ไปท่องยุโรปมาเป็นนานสองนาน ก็ถึงเวลาพาทุกคนไปเยี่ยมชมเพื่อนบ้านชายแดนติดกัน ในเกาะกง ของประเทศกัมพูชา ซึ่งเวลานี้มีการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับจังหวัดตราดได้อย่างกลมกลืนสามารถเดินทางไปมาได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง และพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.1) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ผนึกภาคีเครือข่ายลงนามร่วม ไทย-กัมพูชา จัดเส้นทางโปรโมทเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง 2 ประเทศนั้นเอง วิถีชีวิตชุมชนแหลมกลัด เริ่มต้นเช้าวันแรก 'กนก กนธี' เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงก็ถึงจังหวัดตราด แวะเติมพลังที่ร้านอาหารชื่อดัง ภัตตาคารแสงฟ้า ก่อนจะมุ่งหน้า สู่ชุมชนแหลมกลัด ตำบลที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกมานอกทะเลฝั่งอ่าวไทย ด้านทิศตะวันตก ทิศตะวันออกติดเทือกเขาบรรทัดที่ทอดยาวไปจรดสุดชายแดน มีพื้นที่ติดกับทะเลและภูเขา จึงอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันหลากหลาย บนเทือกเขามีป่าไม้และสัตว์ป่า ในทะเลก็มีกุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์หายากหลากหลายพันธุ์ ชุมชนแหลมกลัด จากอดีต แหลมกลัดเคยเป็นที่หลบซ่อนโจร เรียกว่าคนธรรมดาสามัญนั้นอยู่ได้ลำบาก ประกอบกับพื้นที่จังหวัดตราดนั้นมีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 แหลมกลัดก็เป็นส่วนหนึ่งในดินแดนที่เสี่ยงต่อการสู้รบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสพื้นที่ดังกล่าวเมื่อทราบความ จึงโปรดเกล้าให้หลวงนาวามาเป็นข้าราชบริพาร ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย พื้นที่บริเวณนี้เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล จึงเรียกชื่อว่า แหลมตรัส ต่อมาได้เพี้ยนเป็น แหลมกลัด จวบจนทุกวันนี้ ในปัจจุบัน นายราวี ศิลาอาสน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ได้เล่าว่า ชาวแหลมกลัดส่วนใหญ่ยังคงทำอาชีพประมง มีหมู่บ้านชาวประมงที่ปากอ่าว ดำเนินชีวิตอยู่เหมือนอดีตที่ผ่านมา แม้โลกแห่งวัตถุและเทคโนโลยีจะพัฒนาไม่หยุดยั้ง แต่ดูเหมือนว่าผู้คนที่หมู่บ้านชาวประมงยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ ออกมุ่งหน้าสู้ท้องทะเลตั้งแต่เช้าตรู่ และกลับบ้านยามพระอาทิตย์ส่องแสงจ้าเป็นเช่นนี้วันแล้ววันเล่า ศูนย์ราชการุณย์ ด้วยวิถีชีวิตที่หนักแน่นและอยู่ในครรลองแห่งความจริง ชาวแหลมกลัดจึงเปิดพื้นที่ให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาสัมผัสและซึมซับชีวิตที่แตกต่าง โดยขึ้นอยู่กับความสะดวกและเงื่อนไขของผู้เยี่ยมชม บางคนอาจมีความสุขในการสังเกตและเฝ้ามอง ส่วนบางคนอาจต้องการเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต ซึ่งชุมชนแห่งนี้ก็มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วม นั่นคือออกเรือหาปลา ตกปลา หรือลงมือลากอวนในท้องทะเลด้วยตัวเอง สถานที่เชื่อมโยงไทย-กัมพูชา จาก ชุมชนแหลมกลัด 'กนก กนธี' มุ่งหน้าสู่ ศูนย์ราชการุณย์ เพื่อชมสถานที่สำคัญพร้อมฟังเรื่องเล่าสมัยเขมรแดงสงครามกลางเมือง และเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ลัดเลาะชายหาดาดราชการุณย์ ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียง โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักหาดแห่งนี้ เพราะเป็นหาดที่อยู่ในความดูแลของสภากาชาดไทย เป็นหาดที่อยู่ติดทางหลวงหมายเลข 318 ตราด - คลองใหญ่ บริเวณกิโลเมตรที่ 48 โดยชาวกัมพูชาก็รู้จักหาดแห่งนี้เป็นอย่างดี เพราะในปี พ.ศ. 2522 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ช่วยเหลือผู้อพยพจากกัมพูชาจำนวนนับแสนคน ที่ต่างหนีภัยสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ที่นี่นอกจากเป็นหาดที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนแล้ว ยังมีสวนต้นไม้มงคลพระราชทานประจำ 76 จังหวัด และยังมีสวนสมุนไพรให้นักท่องเที่ยวได้แวะมาศึกษาอีกด้วย ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก เช้าวันใหม่ 'กนก กนธี' มุ่งหน้า สู่ ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด สุดแผ่นดินไทยปลายทางหลวงหมายเลข 3 พรมแดย ไทย - กัมพูชา บรรจบกันที่บ้านหาดเล็กแห่งนี้ ซึ่งตรงกับอำเภอเกาะกง ประเทศกัมพูชา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายทั้ง สวนสัตว์ น้ำตก และทะเล และยังเป็นจุดข้ามแดนไปยังประเทศกัมพูชา และเป็นเรื่องที่ไม่แปลกนักที่ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก จะเป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา โดยชาวกำพูชานิยมข้ามแดนมาซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และผลไม้ เพื่อนำไปขายในประเทศของตน ส่วนชาวไทย นิยมจับจ่ายสินค้าประเภทน้ำหอม แว่นตา เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น จุดตรวจชายแดนบ้านหาดเล็ก สำหรับคนไทยหากต้องการผ่านแดนในช่องทางนี้ สามารถทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว เพื่อเข้าไปเที่ยวยังเกาะกง โดยทำได้ที่จุดตรวจชายแดนบ้านหาดเล็ก ซึ่งในการข้ามแดนของ 'กนก กนธี' ครั้งนี้ ใช้เวลาไม่นานนัก ก็สามารถเดินทางต่อไปยังจุดหมาย ณ เกาะเจ้า หรือคีรีสาคร โดยผ่านตัวจังหวัดเกาะกงไปกว่า 2 ชั่วโมง ผ่านแม่น้ำสตึงงัม ที่กว้างใหญ่ โดยสองข้างแวะล้อมไปด้วยป่าไม้ที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่เป็นจำนวนมาก โรงแรมที่เกาะกง อีกทั้งยังระหว่างเดินทางกลับยังโรงแรม ได้แวะหมู่บ้านบางกระสอบ แหล่งทำกุ้งแห้งขึ้นชื่อของประเทศกัมพูชา พร้อมล่องเรือชมป่าโกงกางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียมีเนื้อที่ประมาณ 25,000 ไร่ อีกทั้งยังเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสีสันทไวไลท์ก่อนะพระอาทิตย์ตกดิน ณ จุดนี้รับรองว่า จะติดตาตรึงใจทุกคนที่มีโอกาสแวะไปเที่ยวชมไปอีกนานแสนนาน ส่งเสริมท่องเที่ยวระดับภูมิภาค ทั้งนี้ นายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท. 1) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า การนำภาคีเครือข่าย อาทิ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด คณะทำงานโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชา ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง และราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นการผลักดันให้มีการดำเนินการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและด้านเศรษฐกิจร่วมกันในลักษณะการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 2 จังหวัด 2 ประเทศ ภายใน 1 ปี (2560) ตลอดจนการดูแลด้านความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวระหว่างกัน โรงแรมที่เกาะกง โดย อพท. 1 ได้ร่วมกับภาคี จัดทำเส้นทางท่องเที่ยว ตราด - คลองใหญ่ - เกาะกง ซึ่งในเส้นทางดังกล่าวนักท่องเที่ยวจะสามารถแวะพักระหว่างทางซึ่งเป็นชุมชนในความดูแลและพัฒนาของพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ชุมชนระหว่างทางก็จะได้รับประโยชน์จากการมาเยือนของนักท่องเที่ยว ได้แก่ ชุมชนตำบลแหลมกลัด ชุมชนตำบลไม้รูด ชุมชนตำบลคลองใหญ่ และชุมชนตำบลหาดเล็ก ซึ่งเป็นเส้นทางออกสู่ประเทศกัมพูชา หมู่บ้านบางกระสอบ อีกทั้งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ 2 ประเทศ คือไทย ที่เส้นทางตราด-คลองใหญ่ เพื่อเดินทางข้ามไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา ในจังหวัดเกาะกงนั้น จะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ คือ จากไทยไปกัมพูชา และจากกัมพูชาข้ามมายังประเทศไทย  ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก ซึ่งการเดินทางของนักท่องเที่ยวดังกล่าวน่าจะช่วยให้เกิดการจับจ่ายและกระจายรายได้ ทั้งในส่วนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก โรงแรม ตลอดจนการค้าชายแดน โดย อพท. และทางจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชาจะร่วมกันจัดทำปฏิทินการท่องเที่ยว และส่งต่อนักท่องเที่ยวระหว่างกัน รวมถึงการพัฒนาสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่เกื้อหนุนกัน กนก กนธี เรื่อง/ภาพ [email protected]