วารินทร์ พรหมคุณ เหตุการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยรวม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ตรัง สุราษฎร์ธานี พัทลุง และกระบี่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีความห่วงใยผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ โดยเฉพาะนักเรียนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต และพระราชทานครุภัณฑ์ โต๊ะ-เก้าอี้ สำหรับนักเรียนและครู แก่โรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย ในการนี้ยังพระราชทานแนวทางวินิจฉัยการแก้ปัญหาเบื้องต้น โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เป็นผู้รับสนองฯ และเป็นผู้แทนพระองค์ในการมอบทุนการศึกษาพระราชทาน แก่นักเรียนเหล่านั้น ที่จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวกับนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษา ตอนหนึ่งว่า "แม้เงินจะไม่อาจทดแทนชีวิตที่สูญเสียไปได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ครอบครัวสามารถดำรงชีวิตต่อได้ นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย" เหตุอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้นปลายปี 2559 ถึงเดือนก.พ.2560 คร่าชีวิตและทรัพย์สินบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายอย่างหนักแล้ว...สถานที่ราชการอย่าง "โรงเรียน" ก็ได้รับความเสียไม่น้อยเช่นกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีความห่วงใยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 40 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายบัตรอวยพร และไดอารี่ภาพวาดฝีพระหัตถ์ โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับผิดชอบในการดูแล และบริหารจัดการ ทั้งในส่วนของโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย และทุนการศึกษาต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น 25 ล้านบาทสนับสนุนครุภัณฑ์โต๊ะ-เก้าอี้ "พระราชทาน" แก่นักเรียน และครู เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายในพื้นที่ 10 จังหวัด รวม 267 โรงเรียน และอีก 15 ล้านบาทเป็นทุนการศึกษาพระราชทาน ให้แก่นักเรียนที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต รวม 27 ครอบครัว ดังนี้ จ.สุราษฎร์ธานี 6 ทุน จ.ชุมพร 2 ทุน จ.นครศรีธรรมราช 12 ทุน จ.สงขลา 5 ทุน จ.ตรัง 1 ทุน และ จ.นราธิวาส 1 ทุน "ทุนการศึกษาพระราชทาน" นี้สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี 4 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ 5 คน ระดับมัธยมศึกษา 3 คน ระดับประถมศึกษา7 คน ระดับอนุบาล 2 คน การศึกษานอกระบบ 1 คน และยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าศึกษา 5 คน เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา ค่าครองชีพ ค่าหอพัก ค่าอุปกรณ์การศึกษา ...สำหรับพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายอย่างมาก นายประหยัด อนุศิลป์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)นครศรีธรรมราช เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)นครศรีธรรมราช กล่าวว่า จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากที่สุด มีโรงเรียนได้รับผลกระทบ จำนวน 160 โรงเรียน มีนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน 12 คน โดยในส่วนของนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน จะมีคณะกรรมการจังหวัดดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ความเป็นอยู่ ปัญหาอุปสรรค และรายงานผลการเรียนของนักเรียนหรือนักศึกษาให้แก่คณะกรรมการจังหวัดทราบทุกภาคเรียน มีครูรับผิดชอบช่วยเหลือให้คำปรึกษาแนะแนวและประสานงานกับผู้ปกครองพร้อมให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ด้าน น.ส.ยุวธิดา ชูแก้ว นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี หนึ่งในผู้ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน กล่าวว่า รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานทุนการศึกษาให้ได้เรียนต่อ เพื่อสานต่อความหวังของบิดาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้ครั้งนี้ เมื่อไม่มีพ่อแล้วตนจึงบอกกับแม่ว่าคงไม่เรียนต่อ เพราะแม่ต้องรับภาระหาเงินเลี้ยงครอบครัวคนเดียว "ถ้าไม่มีทุนพระราชทาน หนูคงไม่ได้เรียนต่อ ทั้งที่หนูตั้งจะทำตามความฝันของพ่อที่อยากให้ลูกเรียนสูง ๆ ตอนที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ พ่อบอกว่าอยากให้เรียนจนจบปริญญาโท พ่อจะหาเงินให้เรียนเอง พอพ่อเสียชีวิตหนูก็ถอดใจแล้ว แต่ตอนนี้หนูมีกำลังใจที่จะสานต่อความหวังของพ่อ โดยหนูจะตั้งใจเรียนให้จบและเป็นครูอย่างที่ตั้งใจ"น.ส.ยุวธิดา กล่าวทิ้งท้าย เด็กและเยาวชนที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทานทุกคน ต่างรู้สึกปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และปฏิญาณว่าจะตั้งใจเรียน และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศไทย -----------------