นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.ตรวจโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงร้านอาหารครัวระฆังทอง ถึงโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ซึ่งก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) พร้อมผนังกั้นน้ำ ค.ส.ล. ความยาวประมาณ273เมตร ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม ความยาวประมาณ73เมตร ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหน้าวัดระฆังถึงโรงเรียนสตรีวัดระฆัง 1แห่ง คาดว่าโครงการดังกล่าวจะลงนามในสัญญาจ้างประมาณเดือน มิ.ย.60 ใช้เวลาก่อสร้าง450วัน คาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จเดือน ส.ค.61 สำหรับโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองบางกอกน้อย ช่วงคลองน้ำตาลถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ โดยก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ชนิดสมอยึดด้านหลัง พร้อมผนังกั้นน้ำ ค.ส.ล. ความยาว325เมตร งานปรับปรุงเขื่อน ค.ส.ล. เดิม (คลองพิณพาทย์) ความยาวประมาณ40เมตร ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม ความยาวประมาณ25เมตร ก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. ชนิดSteel Sheet Pile (เหล็กเข็มพืด) พร้อมผนังกั้นน้ำ ค.ส.ล. และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 4แห่ง ขณะนี้ผลงานที่ทำได้ 68% คาดจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย.60 ส่วนโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองชักพระ บริเวณปากคลองวัดเจ้าอาม โดยก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ชนิดสมอยึดด้านหลัง พร้อมผนังกั้นน้ำ ค.ส.ล. ความยาวประมาณ50 เมตร คาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ธ.ค.60 รองผู้ว่าฯกล่าวว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความยาวทั้งหมด16กิโลเมตร และมีลักษณะเป็นจุดฟันหลออยู่ 30จุด ความยาวประมาณ5กิโลเมตร ซึ่งปีนี้สำนักการระบายน้ำได้ของบฯไว้ 3โครงการ โครงการแรก คือ ตรงบริเวณช่วงวัดเศวตฉัตรถึงอู่เรือหะริน เขตคลองสาน ต่อมาคือ บริเวณซอยราษฎร์บูรณะ3เขตราษฎร์บูรณะ ทั้ง2แห่งกำลังดำเนินการอยู่ สำหรับตรงจุดนี้เดิมจะมีเขื่อนอยู่แต่เกิดรั่วน้ำสามารถเข้าออกได้ กทม.จะตอกเข็มเพื่อสร้างเขื่อนอีกชั้นความยาว190เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าไปในตัวเขื่อน ในส่วน30จุดที่ฟันหลอสำนักการระบายน้ำได้ทำเขื่อนชั่วคราวให้แล้ว จะป้องกันน้ำได้ในระดับหนึ่ง ส่วนบ้านที่อยู่นอกแนวเขื่อน ซึ่งส่วนใหญ่รุกล้ำ โอกาสที่อาจท่วมจากน้ำหนุนหรือน้ำเหนือไหลบ่ามาก็เป็นไปได้สูง อย่างไรก็ตาม น้ำที่กรมชลประทานปล่อยมา กทม.ได้ประสานกับกรมชลประทาน พร้อมทั้งแจ้งล่วงหน้าให้ประชาชนรับทราบเพื่อเตรียมป้องกัน สำหรับการก่อสร้างเขื่อนในคลองบางกอกน้อย รวม 2 ฝั่ง ความยาวประมาณ 10 กม. ซึ่งมีจุดที่เป็นฟันหลออยู่ 4 จุด เนื่องจากติดบ้านเรือนประชาชน ในขณะนี้กทม.ได้เจรจาและยินยอมที่จะรื้อย้ายออกไปแล้ว หลังจากนั้นจะก่อสร้างเขื่อนในส่วนที่เหลือต่อไป ซึ่งเมื่อโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งธนบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น