การยางแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบริษัท เหินฟงฯ ซื้อขายยางแท่ง STR 20 ปริมาณ 5,000 ตัน/เดือน ส่งมอบล๊อตแรกช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมเปิดรับสมัครสถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพ เข้าร่วมโครงการฯ หวังดูดซับยางในฤดูกาลเปิดกรีด วันนี้ (24 พ.ค.60) ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ Mr.SHUO LU ประธานกรรมการ บริษัท เหินฟง รับเบอร์ อินดัสเทรียล จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายยางแท่ง STR 20 หรือยางคอมปาวด์ ตามมาตรฐานสากล ณ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ดร.ธีธัช  สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากลงนามบันทึกช่วยจำ เมื่อครั้งที่ กยท.ไปดูงานที่ประเทศจีนในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้มีโอกาสได้ไปดูศักยภาพการผลิตของบริษัท เหินฟง รับเบอร์ อินดัสเทรียล จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศจีน ที่มีกำลังการผลิตจำนวนมาก เพราะมีความต้องการใช้ยางวันละประมาณ 30,000 ตัน กยท. จึงนำความต้องการนี้มาพิจารณากำลังการผลิตที่สามารถหาได้จะตอบโจทย์ความต้องการของบริษัท เหินฟงฯ ได้มากน้อยเท่าไรได้บ้าง ณ วันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อขายยาง ซึ่งทางบริษัท เหินฟงฯ ได้ส่งผู้มีอำนาจลงนาม มาลงนามซื้อขายฉบับแรก โดยแสดงความจำนงต้องการซื้อยางจากการยางแห่งประเทศไทยเดือนละ 5,040 ตัน ซึ่งจะเป็นยางประเภท STR 20 หรือยางคอมปาวน์ ตามมาตรฐานสากล โดย กยท. จะเป็นผู้รวบรวมยางจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางด้วยการซื้อผ่านทางสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และคัดเลือกยางที่มีคุณภาพเหมาะสมตรงตามความต้องการ ทั้งนี้ จะเป็นการดูดซับเอายางจากฤดูกาลเปิดกรีดนี้ออกจากตลาดได้ประจำทุกเดือน ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยาง หรือสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีศักยภาพจะมีส่วนร่วมในการจำหน่ายวัตถุดิบในโครงการนี้ด้วย ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความต้องการใช้ยางของบริษัท เหินฟงฯ มีมากกว่านี้แต่ในจุดเริ่มต้นจะเริ่มที่ประมาณ 5,000 ตันต่อเดือน และหากผ่านไปแล้ว 6-8 เดือน ถ้า กยท. เห็นศักยภาพของคู่ค้าและศักยภาพของผู้ผลิต ก็อาจจะปรับเพิ่มตามความต้องการใช้ เพราะในกลุ่มเครือบริษัท เหินฟงฯ มีมากถึง 45 บริษัท ที่อยู่ในมลฑลชานตุง ซึ่งมีความต้องการใช้ยางปีละ 1.5 ล้านตัน “สำหรับโครงการฯ นี้ กยท. ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตรายเดียว แต่จะต้องรับซื้อยาง ไม่ว่าจะเป็นยางก้อนถ้วย หรือยางประเภทอื่นๆ จากเกษตรกร เพื่อนำมาแปรรูปเป็นยาง STR 20 ผ่านโรงงานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ กยท. แต่ถ้าปริมาณความต้องการใช้ยางเพิ่มมากขึ้น จะเปิดรับจากสถาบันเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าดังกล่าว ซึ่งมีโรงงานที่จะมาเข้าร่วมโครงการและผลิตคุณภาพเดียวกัน ภายใต้การรับรองของ กยท.” ดร.ธีธัช กล่าว Mr.SHUO LU ประธานกรรมการ บริษัท เหินฟง รับเบอร์ อินดัสเทรียล จำกัด ด้าน Mr.SHUO LU ประธานกรรมการ บริษัท เหินฟง รับเบอร์ อินดัสเทรียล จำกัด กล่าวว่า มีความยินดีมากที่มีการดำเนินการทำสัญญาซื้อขายยางอย่างเป็นทางการร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมาเป็นเวลายาวนาน ประเทศจีนถือว่ามีการใช้ยางในมากที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางมากที่สุดในโลก ซึ่งในปีที่ผ่านมาประเทศจีนนำเข้ายางจากประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนประมาณ 4.8 ล้านตัน โดยนำเข้ายางจากประเทศไทยในปริมาณมากที่สุด ทั้งนี้ ทางบริษัทได้นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทยและมาเลเซียป้อนเข้าโรงงานเพื่อผลิตยางล้อ คิดเป็น 30,000 ตัน/วัน และในปีนี้โรงงานจะผลิตยางล้อ 800,000 เส้น และ ยางรถเล็ก 300,000 เส้น “การร่วมธุรกิจซื้อขายยางครั้งนี้จะส่งผลดีในด้านราคาที่ยุติธรรม เนื่องจากเป็นการซื้อขายที่ไม่ผ่านคนกลางใดๆ ทั้งสิ้น และรู้สึกเชื่อมั่นในคุณภาพยางของประเทศไทย เชื่อมั่นใน กยท. และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางผู้ผลิตยางที่ กยท. ดูแล ซึ่ง กยท. จะสามารถนำยางที่มีคุณภาพส่งให้บริษัทตามที่ต้องการได้ ซึ่งนำไปสู่การร่วมดำเนินธุรกิจซื้อขายยางที่ดีต่อไปในอนาคต” Mr.SHUO LU กล่าว นายสังข์เวิน  ทวดห้อย ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง ขณะที่ นายสังข์เวิน ทวดห้อย ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง กรรมการคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขายยางระหว่าง กยท. และ บริษัท เหินฟงฯ ในฐานะเกษตรกรชาวสวนยางมีความพึงพอใจมาก เพราะมีความมุ่งหวังในการเป็นผู้นำด้านการผลิตยาง ซึ่งในระดับต่างประเทศ เกษตรกรชาวสวนยางก็สามารถทำได้ และขณะนี้ กยท.ได้ทำหน้าที่ในการมองหาตลาด เป็นสื่อกลางให้กับพ่อค้า เพื่อรวบรวมวัตถุดิบที่มีคุณภาพขายให้ผู้บริโภคโดยตรง ฉะนั้นเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายวัตถุดิบจะต้องให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำคือ การดูแลและควบคุมเรื่องคุณภาพ อย่างเช่นยางก้อนถ้วย ควรให้ความระมัดระวังไม่ให้มีสิ่งปลอมปน ในส่วนของกลางน้ำ จะต้องมีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพเช่นกัน เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของยางพาราไทย ซึ่งผู้บริโภค หรือผู้ซื้อจะได้เชื่อมั่นและพึงพอใจต่อสินค้า ก่อให้เกิดการซื้อขายและทำธุรกิจร่วมกันอย่างยาวนานที่สุด