ปลัด ศธ.เผย "หมอธี" ส่งหนังสือถึงผอ.สำนักงบประมาณ ยันของบปี 61 สนับสนุนค่าหนังสือเรียน 100% รวม 8.3 พันล้านบาท แจงนโยบายยืมเรียนยังอยู่ระหว่างทดลองใช้ เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสม วันที่ 24 พ.ค.60 ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการดำเนินงานตามนโยบายหนังสือยืมเรียนว่า ศธ.ขอชี้แจงว่า การดำเนินงานตามนโยบายหนังสือยืมเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. อยู่ระหว่างการทดลองให้ยืมหนังสือเรียน ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปีการศึกษา 2561 ศธ.จะมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ดังนั้นงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อหนังสือเรียนในปี 2561 ก็ยังคงจัดซื้อ 100% ตามเดิม โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามในหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เรื่อง โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในส่วนของรายการหนังสือเรียน เพื่อยืนยันว่า ศธ.จะเสนอของบประมาณปี 2561 ในการสนับสนุนค่าหนังสือเรียน 100% จำนวน 8,394,708,387 บาท แบ่งเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 5,239,693,200 บาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 1,425,843,000 บาท สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 1,274,543,300 บาท สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 392,873,900 บาท และโรงเรียนสาธิต ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 61,754,87 บาท "การขอยืนยันตั้งงบฯ ปี 2561 ในอัตราเดิม 100% ดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนการสอน ส่วนการดำเนินการตามนโยบายหนังสือยืมเรียนในปีนี้ จะเป็นการเตรียมความพร้อมและศึกษาแนวทางการให้ยืมหนังสือเรียน โดย สพฐ.จะศึกษาระบบการให้ยืม การคืนหนังสือ การดูแลหนังสือ ของนักเรียน และการเก็บรักษาหนังสือ เพื่อหาคำตอบว่า การให้ยืมหนังสือที่เหมาะสม ควรจะทำอย่างไร มีหนังสือชำรุดเสียหายมากน้อยแค่ไหน และควรจะให้ยืมหนังสือเรียน และแบบฝึกหัดวิชาใด จำนวนเท่าไร และนำข้อมูลที่สำคัญมาใช้ประกอบการเสนอขอจัดตั้งงบประมาณในรายการค่าหนังสือเรียนในปีงบประมาณ 2562 ต่อไป เท่ากับว่าปีการศึกษา 2560 และ2561 นักเรียนยังคงได้รับหนังสือเรียนฟรี 100% เหมือนเดิม" ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า ในปีการศึกษา 2562 หากต้องเข้าสู่นโยบายหนังสือยืมเรียนเต็มรูปแบบ ส่งผลให้งบฯซื้อหนังสือเรียนลดลงบางส่วน ในส่วนของงบฯ ที่ลดลง นพ.ธีระเกียรติ ได้ให้นโยบายว่าจะต้องนำไปใช้พัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรงเท่านั้น เช่น เรื่องการพัฒนาสื่อทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และดิจิตอลที่มีคุณภาพ นำไปใช้ในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ตามสภาพจริง เป็นต้น