ต้องให้กำลังใจผู้สูญเสีย-ผู้ตกเป็นเหยื่อ สะกิดอย่าซ้ำเติมด้วยการออกความเห็นทำให้เรื่องต่างๆ แย่ลงหรือยิ่งรุนแรงขึ้น แนะสื่อสารด้วยความระมัดระวัง ทั้งเป็นหูตาช่วยส่วนรวม น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในสังคมปัจจุบัน ทั้งภัยพิบัติ หรือเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ว่า เหตุการณ์เหล่านี้ก่อให้เกิดความสูญเสีย ซึ่งปฏิกิริยาด้านจิตใจที่เกิดขึ้น ทั้งตกใจ เศร้า สงสาร เครียด หรือวิตกกังวล กลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง เหล่านี้เป็นปฏิกิริยา “ปกติ” จากเหตุการณ์ “ไม่ปกติ” แล้วอาการจะค่อยหายไป แต่หากอาการยังคงมีอยู่หลัง 1 เดือนไปแล้วถือว่ามีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตที่จะตามมา ประชาชนจึงจำเป็นต้องมีสติให้มาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นบางครั้งเราไม่สามารถพยากรณ์หรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีสติ ด้วยการทำให้จิตอยู่กับปัจจุบัน รับรู้ลมหายใจ เช่น หายใจเข้าออกยาวๆ สัก 5-6 ลมหายใจ ก็จะช่วยตั้งสติได้ ทำให้การรับมือกับเหตุการณ์และการตัดสินใจต่างๆ ดีขึ้น นอกจากนี้ ขอให้ช่วยกันให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนให้กำลังใจครอบครัวผู้บาดเจ็บหรือผู้สูญเสียให้พวกเขารู้สึกว่า ยังมีคนคอยห่วงใย ยังมีกำลังใจที่ดีให้กับพวกเขา ทั้งนี้ ในการเผยแพร่หรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ ผ่านทางโซเชี่ยลมีเดีย ไม่ควรซ้ำเติมเหตุการณ์ต่างๆ ให้แย่ลง หรือก่อให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะจะยิ่งสร้างความรู้สึกที่ไม่ดี และก่อให้เกิดความเครียดในสังคมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงควรสื่อสารด้วยความระมัดระวัง ช่วยกันเฝ้าระวัง กลั่นกรอง เป็นหูเป็นตาให้กับสังคม ให้ข้อคิดเห็นที่ดีที่เป็นประโยชน์ในเชิงป้องกันที่สร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ในการเฝ้าระวังไม่ได้หมายความเฉพาะเจาะจงว่า จะต้องดูอะไรเป็นพิเศษ แต่ต้องช่วยกันระแวดระวังตรวจตราดูสิ่งต่างๆ ในภาพรวม เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย และอุ่นใจมากยิ่งขึ้น